แม่บทเล็ก
แม่บท คือบทร้องคำกลอนที่มีการบอกชื่อของท่ารำ และมีการบรรจุบทร้องไว้ในทำนองเพลง “ชมตลาด” บทกลอนแม่บทมักนิยมนำมาใช้ประกอบท่ารำเพื่อให้ผู้รำได้ฝึกลีลาการรำที่เพิ่งขึ้นหลังจากการฝึกหัดเพลงช้าและเพลงเร็ว การรำแม่บทใช้เป็นการฝึกเพื่อให้เรียนรู้ถึงวิธีการรำที่เรียกว่า “รำใช้บท” โดยกลอนรำแม่บทที่ใช้สำหรับฝึกหัดจะมีอยู่ 2 แบบ คือแม่บทเล็ก และแม่บทใหญ่
ประวัติความเป็นมา
รำแม่บทเล็ก จัดเป็นการร่ายรำตามท่ามาตรฐาน หรือที่เรียกกันว่า “แม่ท่า” เช่นเดียวกับการรำแม่บทใหญ่ แต่กระบวนการรำของแม่บทเล็กจะสั้นกว่าการรำของแม่บทใหญ่ เนื่องจากบทกลอนรำของแม่บทใหญ่จะมีคำกลอนยาวถึง 18 คำกลอน ส่วนแม่บทเล็กมีเพียง 6 คำกลอนเท่านั้น กลอนรำแม่บทเล็กเป็นบทประพันธ์ประเภทกลอนแปดตามฉันลักษณ์ไทย ตัดตอนนำเรื่องมาจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โดยการรำแม่บทเล็กนี้ได้จัดเป็นชุดการแสดงที่ใช้แสดงประกอบอยู่ในการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระนารายณ์ปราบนนทุก เป็นการรำของนารายณ์แปลง ซึ่งมีเค้าโครงเรื่องย่อของการแสดง ดังนี้
นนทุก เป็นยักษ์ตนหนึ่งซึ่งอยู่ ณ เชิงเขาไกรลาส มีหน้าที่ล้างเท้าให้แก่เทพบุตรและเทพธิดาที่มาเข้าเฝ้าพระอิศวร ด้วยความสนุกคึกคะนองไม่ว่าจะด้วยเป็นมนุษย์หรือเทพจนทำให้เกิดเป็นเรื่องราวอันโกลาหล กล่าวคือ เมื่อนนทุกล้างเท้าให้เหล่าเทพบุตร เทพธิดานั้น ก็ถูกกลั่นแกล้งสารพัด รังแกด้วยการตบหัวบ้าง เขกศีรษะบ้าง ถอนผมบ้าง ทำให้นนทุกได้รับความเจ็บแค้นทรมานทั้งกายและเจ็บทั้งใจตลอดเวลา จนกระทั่งศีรษะล้าน
จนผมโกร๋นโล้นเกลี้ยงถึงเพียงหู
ฮึดฮัดขัดแค้นแน่นใจ เป็นชายดูดู๋มาหมิ่นชาย คิดแล้วก็รีบเดินมา |
ดูเงาในน้ำแล้วร้องไห้
ตาแดงดั่งแสงไฟฟ้า มิตายจะได้มาเห็นหน้า เฝ้าพระอิศราธิบดี |
เมื่อทนไม่ได้นนทุกจึงขึ้นเฝ้าพระอิศวร ณ ยอดเขาไกรลาสและทูลขอพระจากพระอิศวรเพื่อให้มีฤทธิ์ในการปกป้องตนเอง พระอิศวรจึงประทานนิ้วเพชรให้นนทุก ซึ่งนิ้วเพชรนี้เมื่อชี้ถูกขา ขาก็หัก ชี้ถูกแขน แขนก็หัก นนทุกดีใจเป็นอันมากและคิดที่จะแก้แค้นเหล่าเทวดาที่รังแกตน เมื่อได้เวลาเข้าเฝ้าพระอิศวร เทพทั้งหลายก็พากันเล่ากันอย่างสนุกสนานตามเช่นเคย นนทุกจึงใช้นิ้วชี้เหล่าเทวดาจนได้รับความเจ็บปวด และต่างพากันตกใจกลัวพากันหนีไป นนทุกมีความกำเริบใจทีสามารถเอาชนะเทวดาได้ จึงออกท่องเที่ยวไปในแดนสวรรค์และทำร้ายเหล่าเทวดาให้ได้รับความเดือดร้อน เทวดาทั้งหลายจึงกราบทูลพระนารายณ์ พระนารายณ์ได้ใช้อุบายด้วยการแปลงกายเป็นนางฟ้าเดินผ่านหน้านนทุก นนทุกเกิดติดใจในรูปแมความงามของนาง จึงออกปากเกี้ยวพาราสีของเป็นคู่ นางนารายณ์แสร้งตอบยินดีที่จะเป็นคู่แต่ต้องร่ายรำตามนางจึงจะยอมเป็นคู่หมาย ด้วยความพิศวาสหลงใหลนนทุกจึงตอบรับ ดังนั้นนางนารายณ์จึงรำเพลงแม่บทนี้โดยมี นนทุกรำตามไปด้วย และเมื่อถึงบทร้องที่ว่า
ฝ่ายว่านนทุกก็รำตาม ถึงท่านาคาม้วนหางลง | ด้วยความพิสมัยไหลหลง ก็ชี้ตรงเพลาพลันทันใด |
เมื่อนนทุกชี้นิ้วเพชรชี้ไปที่เข่าของตนเอง เข่าก็หักทรุดลงนั่งและได้รู้ว่าได้เสียทีแก่พระนารายณ์ จึงเอ่ยปากตัดพ้อว่า พระนารายณ์นั้นใช้เล่ห์อิสตรีมาลวงทำไมไม่สู้รบกันซึ่งๆหน้า พระนารายณ์จึงประกาศว่าให้ไปจุติใหม่ ให้มีสิบหน้า ยี่สิบกร พระองค์จะทรงอวตารไปปราบให้ได้ ด้วยเหตุนี้นนทุกจึงอุบัติไปจุติในมนุษยโลก เป็นเจ้ากรุงลงกานามว่า “ทศกัณฑ์” ส่วนพระนารายณ์ก็อวตารมาเป็นพระรามและทำสงครามขับเคี่ยวจนกระทั่งทศกัณฑ์ถึงแก่ความตาย
ดนตรีและเพลงประกอบการแสดง
การบรรเลงในการรำแม่บทเล็กนั้น ใช้วงปี่พาทย์บรรเลง แล้วขับร้องด้วยเพลงชื่อ ชมตลาด และจบท้ายด้วยเพลงรัว หรือเพลงเร็วและเพลงลา หรือบางครั้งอาจจบด้วยเพลงต้นวรเชษฐ์แล้วต่อด้วยเพลงเร็วและเพลงลาก็ได้ ทั้งนี้สุดแต่ผู้รำจะเห็นสมควร
บทร้อง
- ดนตรีบรรเลงเพลงรัว -
- เพลงชมตลาด -
เทพนมปฐมพรหมสี่หน้า
ทั้งกวางเดินดงหงส์บิน
อีกช้านางนอนภมรเคล้า
เมขลาโยนแก้วแววไว
ยอดตองต้องลมพรหมนิมิต
ย้ายท่ามัจฉาชมสาคร
|
สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน
กินรินเลียบถ้ำอำไพ
แขกเต้าผาลาเพียงไหล่
มยุเรศฟ้อนในนภาพร
อีกทั้งพิศมัยเรียงหมอน
พระสี่กรขว้างจักรฤทธิรงค์
|
- ดนตรีบรรเลงเพลงเร็ว และเพลงลา -
เพลงชมตลาด เป็นเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงของตัวละครที่อยู่ในอารมณ์สนุกสนานรื่นเริง หรือใช้ในโอกาสบรรยายความงามต่าง ๆ เพลงชมตลาดจะมีลักษณะแปลกกว่าเพลงไทยทั่วไปตรงที่ การเว้นช่วงการตีฉิ่ง จังหวะของการตีจะเป็นการตีในลักษณะช้า 1 คู่ และเร็ว 1 คู่ สลับกันไป
การแต่งกาย
ผู้แสดงรำแม่บทเล็กนี้จะแต่งกายยืนเครื่องพระ-นาง โดยมีรายละเอียดของเครื่องแต่งกายตัวพระและตัวนาง ดังนี้
การแต่งกายยืนเครื่องพระ ประกอบด้วย กำไลเท้า สนับเพลา ฉลององค์ พระภูษาหรือภูษา เข็มขัดหรือปั้นเหน่ง สังวาล กรองคอ ทับทรวง อินทรธนู รัดสะเอว ตาบทิศ ห้อยหน้า ห้อยข้าง แหวนรอบ ปะวะหล่ำ ทองกร ธำมะรงค์ ชฎา ดอกไม้ทัด อุบะหรือพวงดอกไม้
การแต่งกายยืนเครื่องตัวนาง ประกอบด้วย กำไลข้อเท้า เสื้อในนาง ผ้านุ่งหรือภูษาหรือพระภูษา เข็มขัดหรือปั้นเหน่ง สะอิ้งหรือสร้อยตัว ผ้าห่มนาง นวมนางหรือกรองศอ จี้นาง แหวนรอบ ปะวะหล่ำ กำไลตะขาบ กำไลสวมหรือทองกร ธำมะรงค์ มงกุฎ จอนหูหรือกรรเจียกจร ดอกไม้ทัด อุบะหรือพวงดอกไม้
ท่ารำ
การรำแม่บทเล็ก จะใช้วิธีเดียวกับการรำแม่บทใหญ่ คือ เมื่อร้องและรำไปได้ 2 คำกลอน ปี่พาทย์จะบรรเลงรับครั้งหนึ่งเพื่อพักเสียงของผู้ร้อง โดยขณะที่ปี่พาทย์บรรเลงผู้รำจะต้องรำ "ซัดท่า" ซึ่งหมายถึง การรำตามจังหวะและทำนองที่บรรเลงรับ เพื่อฝึกให้ผู้รำได้รู้จักใช้เท้าและใช้มือสลัดไปตามจังหวะ โดยการรำซัดท่าจะเลือกเอาท่ารำจากแม่ท่าหรือท่าเชื่อมที่ได้ฝึกหัดแล้วบางท่ามารำทวนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้มิได้มีกฏเกณฑ์บังคับ ขึ้นอยู่กับครูผู้ฝึกหัดหรือผู้รำจะเลือกนำท่ามาเชื่อมก็ได้ สำหรับการรำท่าโบก เมื่อจบคำกลอนของแม่บทเล็กจะแตกต่างจากแม่บทใหญ่ตรงที่ ท่ารำของแม่บทใหญ่สามารถหันตัวได้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา แต่ในการรำของแม่บทเล็กจะหันตัวโบกเพียงด้านขวาเพียงด้านเดียว
โอกาสที่ใช้ในการแสดง
การรำแม่บทเล็ก มักใช้แสดงประกอบการแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน พระนารายณ์ปราบนนทุก หรือมักใช้แสดงในงานมงคลต่าง ๆ ได้โดยทั่วไป
แม่บทเล็กเป็นการรำที่เป็นมาตราฐานของการรำนาฏศิลป์ท่าแต่ล่ะท่าของนาฏศิลป์ส่วนใหญ่ก็จะมักเอาท่ารำของ แม่บทเล็ก ไปประกอบท่ารำ ในแต่ล่ะท่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น