วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560



ฟ้อนหมากกั๊บแก้บ - ลำ



หมากกั๊บแก้บ(กรับ)  เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะของภาคอีสาน มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ

1. กั๊บแก้บไม้สั้น เป็นไม้ผิวเรียบยาวประมาณ 4-6 นิ้ว
2. กั๊บแก้บไม้ยาว เป็นไม้ผิวเรียบมีการหยักร่องฟันปลา เพื่อขูดกันให้เกิดเสียง

การเล่นหมากกั๊บแก้บนั้น สามารถเล่นได้ทุกโอกาสที่มีการบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน  และผู้เล่นส่วนใหญ่มักจะแต่งกายเหมือนชาวอีสานโบราณ คือนุ่งผ้าเตี่ยวมีการสักลวดลายบนร่างกาย ปัจจุบันไม่นิยมการสัก จึงมักจะใช้สีเขียนลวดลายขึ้นแทน เช่นลายเสือผงาด ลายหนุมานถวายแหวน ลายนกอินทรี ลายมอม ลายสิงห์ เป็นต้น

การเล่นหมากกั๊บแก้บ เป็นการเล่นที่ไม่มีรูปแบบตายตัว สุดแท้แต่ใครมีความสามารถในการแสดงออกถึงลีลาท่าทางที่โลดโผนให้เป็นที่ประทับใจของหญิงสาวได้มากน้อยเพียงใด  หากเล่นกันเป็นคู่มีฝ่ายรุกฝ่ายรับ แล้วเปลี่ยนลีลาสลับกันก็ขึ้นอยู่กับโอกาสและปฏิภาณของผู้เล่น

ลำเพลิน  เป็นการขับลำอีกประเภทหนึ่งของชาวอีสาน สันนิษฐานว่าการขับลำเพลินมาจากการลำทำนองตีกลองน้ำเพราะจังหวะลีลาท่วงทำนองคล้ายคลึงกันมาก

หมอลำเพลิน ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยใดไม่สามารถระบุหลักฐานได้แน่ชัด แต่ก็เป็นทำนองกลอนลำที่นิยมกันอย่างกว้างขวางทั้งในภาคอีสานและประเทศลาว ตั้งแต่ พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบัน บางคนก็เรียกทำนองหมอลำชนิดนี้ว่าหมอลำแก้วหน้าม้า อันเนื่องมาจาก แต่เริ่มเดิมทีนั้นหมอลำเพลินนิยมเล่นเรื่อง “แก้วหน้าม้า” เพียงอย่างเดียว ในสมัยต่อมาก็มีการเล่นเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งชาวอีสานจะนิยมเรียกว่า “ขุนแผน-ลาวทอง” เพราะนิยมเล่นตอนนางลาวทองเขียนสาสน์ ปัจจุบัน ลำเพลินพัฒนาตนเองไปอย่างรวดเร็ว จึงนิยมนำเอาวรรณกรรมและนิทานพื้นบ้านมาใช้เล่นกันอย่างกว้างขวาง

ความไม่พิถีพิถัน ของคณะหมอลำและผู้จัดการวงหมอลำในปัจจุบัน ทำให้ภาพลักษณ์ของหมอลำเพลิน เกือบจะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน เพราะในขณะนี้หมอลำเพลินแทบทุกคณะ นิยมนำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ในการบรรเลงเพลงประกอบการแสดง แทบจะไม่เหลือความเป็นขนบดั้งเดิมของหมอลำ กลอนลำที่ใช้ก็ไม่ถูกต้องตรงกับเนื้อเรื่อง มักจะลำไปเรื่อยๆตามคำกลอนของผู้เขียนเพลงจะคิดได้

นายชุมเดช  เดชภิมล อาจารย์2 แห่งวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด (**ปัจจุบัน อยู่ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)  ได้ผนวกการเล่นหมากกั๊บแก้บเข้ากับการเล่นลำเพลินของชาวอีสาน โดยยังคงลีลาการเล่นหมากกั๊บแก้บและการฟ้อนลำเพลินไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งมีผู้แสดงร่วมทั้งชายและหญิง

จุดเด่นของการฟ้อนหมากกั๊บแก้บ-ลำเพลิน อยู่ที่จังหวะลีลาท่วงทำนองดนตรี ประกอบกับท่าฟ้อนของชาวอีสาน เช่น ท่าถวยแถน ท่าหมาเยี่ยว ท่าลอยปลากระเดิด ท่าเสือตะครุบ ท่าดาวน้อย ท่าลำเพลินท่าบัวหุบ-บัวบาน ท่าส่าย ท่าเนิ้ง ฯลฯ ดนตรีบรรเลงลายแมงตับเต่า และทำนองหมอลำอัศจรรย์ลายลำเพลิน


การแต่งกาย 
- ชาย สวมเสื้อยันต์แขนกุดสีขาวขอบชายเสื้อสีแดง นุ่งผ้าลายโสร่ง เป็นโจงกระเบนรั้งสูงถึงต้นขา ม้วนปลายผ้าสอดไปด้านหลัง (เรียกลักษณะการนุ่งผ้าเช่นนี้ว่า การนุ่งแบบเสือลากหาง) มัดศีรษะด้วยผ้าขาวม้า และมัดเอวด้วยผ้าขิด
- หญิง สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มทับด้วยสไบขิด นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ยาวคลุมเข่า ผมเกล้ามวยประดับมวยผมด้วยดอกไม้ และสวมเครื่องประดับเงิน 




ท่ารำดังนี้



ฟ้อนหมากกั๊บแก้บ - ลำเพลิน เป็นการฟ้อนคู่ ท่ารำก็จะเกี้ยวพาราษีกันและจังหวะการรำก็นจะเป็นออกสนุกสนาน


  

ที่มา   http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=roied04.php


ฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ


ประเพณีการสู่ขวัญ เป็นประเพณีตามศาสนาพราหมณ์ที่นิยมกระทำสืบต่อกันมาอย่างช้านาน ถือว่าเมื่อได้มีการทำพิธีนี้แล้วจะก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต การทำพิธีีสู่ขวัญนี้จะกระทำเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ดีเป็นมงคล เช่นพิธีแต่งงาน การหายจากป่วยไข้ การมาหรือกลับจากสถานที่ใดๆ การไปค้าขายได้เงินทองมามาก การมีแขกมาเยี่ยมยามจากต่างถิ่น ฯลฯ แม้แต่เหตุการณ์ที่ไม่ดี เช่น การได้รับความเจ็บป่วย คนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุหรือต้องเสียชีวิต (เหตุการณ์นี้จะทำพิธีให้แก่ผู้ที่รอดจากเหตุดังกล่าว) การสู่ขวัญ คือการเรียกขวัญ หรือเอิ้นขวัญ 
ชาวอีสานมีความเชื่อว่า “ขวัญ” เป็นสิ่งที่แฝงอยู่กับตัวของมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะจับต้องหรือไม่สามารถมองเห็นได้ หากว่ามีเหตุให้ขวัญหนีออกจากตัว เช่น เกิดอุบัติเหตุ เสียใจ ป่วยไข้ ตกใจรุนแรง อาจทำให้ตัวบุคคลนั้นถึงแก่ความตายได้ ฉะนั้นต้องเรียกขวัญกลับมาสู่ตัวจะทำให้สุขสบายขึ้น 

บาศรี เป็นคำเรียกพราหมณ์ด้วยความเคารพ พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีสู่ขวัญ จึงเรียกว่า บาศรีสู่ขวัญ ซึ่งหมายถึงพราหมณ์ทำพิธีสู่ขวัญ

บายศรี มาจากคำว่าบาย+ศรี บาย แปลว่า สัมผัส จับ ต้อง ศรี แปลว่า สิริ มงคล สิ่งที่ดี บายศรี หมายความถึง การรวบรวมเรียกเอาสิริมงคลต่างๆ ด้วยกิริยาวิธีทางกาย ทางวาจา และทางใจ แม้ว่าศรี หรือ สิริ จะไม่สามารถบายหรือสัมผัสจริงๆได้ด้วยมือ แต่ที่ใช้คำว่าบาย เนื่องจากต้องการสื่อในความหมายเชิงรูปนัยเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย มิใช่นามนัย พราหมณ์จึงใช้วิธีเชิญสิริเข้ามาอยู่ในข้าว ไข่ต้ม หรือฝ้ายผูกข้อมือ เป็นต้น แล้วบายเอาข้าวหรือไข่ต้มส่งให้ผู้เข้ารับบายศรีกิน นำฝ้ายไปผูกข้อมือ ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีเชิงรูปธรรม ในส่วนที่เป็นนามธรรมนั้น จะรับสิริทางใจหรือความรู้สึกโดยตรง

บายศรีสู่ขวัญ จึงหมายถึงการรวบรวมเรียกเอาหรือเชิญสิริมงคลต่างๆ ด้วยกิริยาวิธีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้มาสถิตที่ขวัญ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อความสุข สวัสดี 
การแต่งกาย 
ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกสีขาว ห่มสไบขิด และนุ่งผ้าซิ่นลายขิด(ผ้าซิ่นขิดอุดรธานี) ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้หรือพันมวยผมด้วยฝ้ายภูไท สวมเครื่องประดับเงิน

ท่ารำดังนี้

ฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ เป็นการฟ้อน ที่ภาคอีสานคุ้นเคยกันดีคือ ฟ้อนบายศรีสู่ขวัญเป็นประเพณีของชาวอีสานอยู่แล้ว ท่ารำก็ประดิษฐ์ออกมาได้สวยงามและไม่ยาก เกินไปคนที่มีพื้นฐานก็สามารถที่จะรำได้




ที่มา http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=udorn01.php


ฟ้อนเก็บฝ้าย

ฟ้อนเก็บฝ้าย เป็นการแสดงที่สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของชาวไทอีสาน โดยเฉพาะชาวไทเลยและชาวไทในจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีการทอผ้าฝ้ายมาใช้ในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก

ฟ้อนเก็บฝ้าย ได้ประดิษฐ์คิดค้นการแสดงโดย คณาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้ออกทำการแสดงเผยแพร่ครั้งแรกในงาน “ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย” แสดงให้เห็นถึงการเก็บดอกฝ้ายของหญิงสาวชาวบ้าน โดยจะมีชายหนุ่มเข้ามาหยอกล้อในระหว่างกำลังที่ตากฝ้าย และช่วยถืออุปกรณ์ในตอนท้ายอีกด้วย 

การแต่งกาย

- หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำตัดขอบแดง ใช้ผ้าแพรวาแดงมัดศีรษะและปล่อยชายมาด้านซ้าย นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สลับจกสีดำ สะพายกระหยัง และสวมเครื่องประดับเงิน
- ชาย สวมเสื้อย้อมครามแขนสั้น นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าแพรขิดแดงโพกศีรษะและมัดเอว 

ท่ารำดังนี้


ฟ้อนเก็บฝ้าย เป็นการฟ้อนของอีสานเหนือ ท่าทางก็จะเอามาจากกการเก็บฝ้ายของชาวบ้าน
และเป็นการรำที่สนุกสนาน



ที่มา http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=roied12.php


เซิ้งโปง


โปง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระปุง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตี เป็นอาณัติสัญญาณบอกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวัดแทนการตีระฆัง หรือฆ้องและกลอง ถ้าโปงขนาดใหญ่มากเสียงก็จะทุ้มหรือต่ำตามขนาดของโปง ถ้าโปงมีขนาดเล็ก เสียงก็จะเล็กตามด้วย 

เวลาที่กระทุ้งโปงหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การ “ถั่งโปง”
1. กระทุ้งเวลาเช้า ก่อนบิณฑบาต เพื่อให้ญาติโยมเตรียมตัวตักบาตร
2. กระทุ้งเวลาเย็น เพื่อประโยชน์ให้คนที่หลงป่ากลับเข้ามาถูกทิศ
3. กระทุ้งเวลาย่ำค่ำ ในช่วงเข้าพรรษา เพื่อให้พระลงทำวัตรเย็น
4. กระทุ้งเวลาวิกาล แสดงว่า เกิดเหตุร้ายขึ้นในวัดและแจ้งข่าวสารให้ชาวบ้านได้ทราบว่าทางวัดขอความช่วยเหลือ

นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน กองศิลปศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ได้นำท่าทางที่ประมวลจากกริยาและขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำโปงมาประยุกต์ให้เข้ากับลักษณะพื้นฐาน และแนวความคิด ด้านการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านภาคอีสาน กลายเป็นการแสดงชุดใหม่ และเรียกชื่อการแสดงชุดใหม่ ตามลักษณะของอุปกรณ์ที่ประกอบการแสดงว่า "เซิ้งโปง"

รูปแบบการแสดง

แบ่งการแสดงออกเป็น 2 ตอน และใช้ผู้แสดง 2 กลุ่ม

ตอนที่ 1
ใช้ผู้แสดง 8 คน ชาย 5 หญิง 3 คน แสดงให้เห็นขั้นตอนของการทำโปง โดยเริ่มตั้งแต่การออกไปหาไม้ไผ่, การผึ่งไม้ให้แห้งบากทำรูแพ, ติดขาโปง, เจาะรูร้อยเชือก แคนเป่า เกริ่นแคนประกอบการดำเนินเรื่อง และวงดนตรีโปงลางบรรเลงประกอบท่าทาง

ตอนที่ 2
ใช้ผู้แสดง 12 คน เป็นหญิงล้วน แสดงให้เห็นถึงลักษณะของโปงที่ประดิษฐ์เรียบร้อย แล้วนำมาสั่นเป็นลายพื้นบ้านอีสานคือ ลายโปงลางและช่วงสุดท้ายเป็นการนำโปงมาเคาะเป็นจังหวะ ประกอบกับท่าเซิ้งเหมือนการขยับกรับ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ได้จัดลำดับที่มีอยู่แล้วให้เหมาะกับท่าเซิ้งโปง ดังนี้ ลายน้ำท่วมทุ่ง ลายโปงลาง ลายสาวชมหาด และลายเป่าใบไม้

การแต่งกาย

ตอนที่ 1 ชาย สวมเสื้อหม้อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว โพกศีรษะและสะพายย่าม
หญิง สวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก ห่มสไบ นุ่งผ้าถุงมัดหมี่ใช้ผ้าแพรฟอยมัดมวยผม

ตอนที่ 2 ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ห่มผ้าสไบแดงเหน็บชายด้านซ้าย นุ่งผ้าซิ่นพื้นบ้านภาคอีสาน พาดผ้าแพรวาสีขาวที่ไหล่ขวา สวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินเกล้าผมมวย ประดับดอกไม้รังไหม 


ท่ารำดังนี้


เซิ้งโปง เป็นการรำของภาคอีสานอีกการแสดงหนึ่ง เป็นการเอาท่ารำมาจากชีวิตประจำวันและได้มาประดิษฐิ์ออกเป็นท่ารำต่างๆ ที่สวยงาม


ที่มา  http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=kalsin07.php

ฟ้อนสาละวัน
ลำสาละวัน เป็นวัฒนธรรมของชนชาติลาวอีกประเภทหนึ่ง การลำสาละวันที่เก่าแก่ที่กำเนิดมาจากการทรงผีไท้ผีแถน ตามความเชื่อดั้งเดิมแล้วกลายมา เป็นมหรสพของชุมชน แล้วได้ประยุกต์เพิ่มกลอนลำให้เกิดความสนุกสนาน ประกอบท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยอิสระตามธรรมชาติ แรกเริ่มเป็นการเล่นโดยทั่วไปในหมู่ชาวบ้าน แล้วแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย ได้รับความนิยมมายาวนาน ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ จังหวะสม่ำเสมอ 


เนื้อความของลำสาละวัน นอกจากจะสะท้อนให้เห็นแนวทางการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิงแล้ว โวหารเปรียบเทียบที่ใช้ในกลอนลำ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความงามของการใช้ภาษา นอกจากนั้น ท่วงทำนองของการลำ ยังมีการเอื้อนที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว
“ลำสาละวัน” จึงเป็นเอกลักษณ์ของชาวสาละวันมายาวนาน ยังคงไว้ซึ่งความไพเราะ และเป็นการร้อยเรียงภาษาที่บอกเล่าเป็นทำนอง ให้ทราบถึงอดีตที่รุ่งเรืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้อย่างดียิ่ง


การแสดงชุด "ฟ้อนสาละวัน" ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรก โดย อาจารย์วีณา วีสเพ็ญ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม โดยได้กลอนลำสาละวันมาจากคนลาวอพยพ ซึ่งฟ้อนสาละวันนี้ เป็นแบบของวงแคนหรือแบบของ อ.วีณา 

การแสดงชุด “ฟ้อนสาละวัน”  อีกแบบหนึ่งเป็นแบบของวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด โดยคณาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด เล็งเห็นคุณค่าความไพเราะของทำนองและบทร้อง ตลอดจนท่าฟ้อนรำที่สื่อความหมายตามแบบศิลปะพื้นบ้านที่บริสุทธิ์ รวมไปถึงความสวยงามของลวดลายที่ปรากฏบนผ้าทอของชาวสาละวัน โดยพยายามอนุรักษ์การฟ้อนแบบดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด โดยไปศึกษาการขับลำสาละวันและท่าฟ้อนสาละวัน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วนำกลับเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยอีกครั้ง จึงได้นำฟ้อนประกอบการลำสาละวันมาจัดระเบียบแบบแผนการแสดงใหม่ โดยดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบในการแสดงวงโปงลาง แต่ยังคงรูปแบบไว้ดั้งเดิมเอาไว้อย่างครบถ้วน 


การแต่งกาย (แบบวนศ.ร้อยเอ็ด)
- ชาย สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นสีเขียวลายจกดิ้นทอง นุ่งผ้าโจงกระเบนสีเขียว ใช้ผ้าสไบจกลุ่มน้ำโขงมัดเอว สวมสร้อยทอง และกำไลทอง
- หญิง สวมเสื้อที่มีไหล่เสื้อด้านซ้ายสีเขียว ซึ่งเป็นแบบเสื้อชุดประจำชาติของลาว ห่มสไบจกดิ้นทองและนุ่งผ้าซิ่นจกสีแดงยกดิ้นทอง ผมเกล้ามวยสูง รวบผมตึงเบี่ยงมวยผมไปทางซ้าย มัดมวยผมด้วยสายลูกปัดทอง ปักปิ่นทองที่ยอดมวยผม สวมเครื่องประดับทอง เช่น สร้อย ต่างหู กำไล เข็มขัด 

ท่ารำดังนี้


ฟ้อนสาละวัน เป็นการฟ้อนที่ออกท่าทางสนุกสนาม และท่าแต่ละท่ามีความอ่อนช้อยและสวยงาม
การแสดงชุดนี้ได้อิธิพลมาจากประเทศลาว ก็จะรำคล้ายๆ กัน




ที่มา  http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=roied02.php


ฟ้อนไทภูเขา



ฟ้อนไทภูเขา เป็นการแสดงที่สื่อถึงภาพวิถีชีวิตในการทำมาหากินของชาวภูไทที่อาศัยตามแนวเทือกเขาภูพาน อันเป็นแนวทิวเขาที่ทอดยาวพาดผ่านหลายจังหวัดในอีสานตอนบน แสดงถึงการหาของป่าหรือการหาพืชพันธุ์เพื่อนำมาใช้ประกอบอาหาร 

การแสดงชุดนี้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ โดยการเข้าไปลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลการทำมาหากิน ที่หมู่บ้านของชาวภูไทบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการเป็นหมู่บ้านต้นแบบการทอผ้าสไบไหมแพรวาของชาวภูไท ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์ แหล่งอื่นๆก็นิยมทอกันอย่างแพร่หลาย

การแสดงชุด “ฟ้อนไทภูเขา” แสดงถึง การเดินขึ้นภูเขา การขุดหาหน่อไม้ เก็บเห็ด เก็บผักหวาน เก็บใบย่านาง และการตัดหวาย จึงเป็นการแสดงที่มีความโดดเด่น ในการสื่อถึงการทำมาหากินและความสวยงามของผ้าไหมแพรวา ของชาวภูไทที่นำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายของนักแสดง

ดนตรีที่ใช้ เริ่มต้นจากลายภูไท ที่มีทำนองช้าแล้วขึ้นลายใหม่ที่มีจังหวะและทำนองที่สนุกสนาน 

การแต่งกาย
-  หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีแดง ใช้ผ้าสไบไหมแพรวาสีแดงพับครึ่งเป็นตัว V ที่ด้านหน้าให้ปลายผ้าทั้งสองข้างพาดไหล่ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สีดำมีตีนซิ่นยาวคลุมเข่า พันศีรษะด้วยผ้าแพรวาสีแดงปล่อยให้ชายครุยของปลายผ้าปรกใบหน้า สวมเครื่องประดับเงิน และสะพายหลังด้วยเครื่องจักสานลักษณะตะกร้าสะพายหลัง ชาวภูไทเรียกเครื่องจักสานชนิดนี้ว่า “กระม้อง”
-  ชาย สวมเสื้อสีครามมีการตกแต่งเสื้อด้วยแถบผ้าลายแพรวา นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าแพรวาแดงพันศีรษะและมัดเอว สะพายย่ามลายขิดสีแดง




ท่ารำดังนี้



 ฟ้อนไทภูเขา เป็นการฟ้อนที่สนุกสนาน เป็นชาวอีสานที่อยู่บนเขา และท่าทางก็ได้มาจากชีวิตประจำวันของชาวบ้านเลย



ที่มา  



รำมวยโบราญ


ภาคอีสานในสมัยโบราณก่อนที่จะมีมวยคาดเชือก มวยเวที มีมวยแบบหนึ่งเรียกกันหลายชื่อ เช่น มวยลาว บ้าง เสือลากหาง บ้าง มวยดังกล่าวนี้นิยมฝึกหัดตามคุ้มวัดตามหมู่บ้าน เพื่อให้มีกำลังวังชา สามารถต่อสู้ป้องกันตัวได้ และในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความสวยงามของลีลาท่ารำท่าฟ้อน มีการร่ำเรียนเวทมนต์คาถา เสกเป่าหมัดเข่าให้มีพละกำลังแข็งแกร่งจนคู่ต่อสู้ทำอันตรายไม่ได้ 

ในปัจจุบันจังหวัดสกลนครเป็นแหล่งเดียวที่ยังมีมวยโบราณในงานเทศกาลงานบุญประเพณี เช่น เทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาในเทศกาลออกพรรษา ในเทศกาลงานบุญเหล่านี้ ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่ของคุ้มวัดเข้าร่วมขบวนอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะชาวสกลนครในเขตรอบๆตัวเมือง ถือกันมาแต่โบราณว่าเมื่อถึงเทศกาลบุญพระเวสเทศน์มหาชาติแล้ว ชาวคุ้มจะจัดเป็นขบวนแห่ฟ้อนรำไปตามถนน ผ่านหน้าบ้านผู้คนเพื่อบอกบุญ ทำบุญร่วมกันถวายแด่องค์พระธาตุเชิงชุม ขบวนแห่ของชาวคุ้ม นอกจากจะประกอบด้วยผู้คนทั้งหนุ่มสาว เฒ่าชราแต่งกายสวยงามตามแบบพื้นเมือง ฟ้อนรำไปตามถนนหนทางแล้ว ยังมีนักมวยของแต่ละคุ้มนำหน้าขบวนเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น นักมวยแต่ละคนจะนุ่งโจงกระเบนหยักรั้งปล่อยชายกระเบนห้อยลงมาพองาม ด้วยเหตุนี้เอง ชาวบ้านจึงมักเรียกนักมวยว่า "พวกเสือลากหาง"
ผู้รำมวยโบราณนอกจากจะแต่งด้วยผ้าหยักรั้งปล่อยห้อยชายกระเบนแล้ว ตามเนื้อตัวตามขายังนิยมสักลายท่อนบนมักจะเป็นรูปสัตว์ที่แผงอก เช่น รูปครุฑ รูปงู รูปเสือ หนุมาน ส่วนตามโคนขาก็จะสักลายเป็นรูปพืชผัก เช่น ลายต้นข้าว ผักกูด คติความเชื่อในเรื่องสักลายนี้แต่โบราณถือว่าเป็นสัญลักษณ์ความเข้มแข็งเป็นที่พึงพอใจของสตรีเพศ

บางรายอาจมีคติเรื่องความคงกะพันผสมกับความสวยงามด้วย นักมวยโบราณจะมีตะกรุดรัดแขน ภายในตะกรุดมีเครื่องรางของขลังที่ตนนับถือ สวมมงคลที่ศีรษะในขณะที่ไหว้ครู เช่นเดียวกับมวยเวทีในปัจจุบัน และจะถอดมงคลออกเมื่อถึงเวลาที่จะร่ายรำหรือต่อสู้ 

ความงดงามของมวยโบราณอยู่ที่ท่าทางการไหว้ครู ซึ่งใช้ลีลาจากอากัปกิริยาของสัตว์ เช่น เสือ ช้าง ม้า วัว ควาย มาดัดแปลงด้วยลีลาของนักมวย แล้วเคลื่อนไหวเหยาะย่างให้เข้ากับเสียงกลองเสียงแคน นักมวยบางคน ยังนำเอาท่าทางของลิงของยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์ มาประดิษฐ์เป็นท่าทางร่ายรำอย่างสวยงาม อันเนื่องมาจากความงดงามของนักมวยโบราณ ซึ่งเป็นศิลปะผสมผสานระหว่าง นาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานและชั้นเชิงของการต่อสู้ แบบมวยโบราณ
นายจำลอง นวลมณี ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ เป็นผู้รักและสนใจการแสดงมวยโบราณ เป็นครูสอนรำมวยโบราณ ได้ทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกมวยโบราณให้กับนักเรียนประถมมัธยม และพนักงานดับเพลิงของเทศบาลเมืองสกลนคร


ประวัติความเป็นมา

"มวย เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นการต่อสู้ด้วยพละกำลัง ใช้อวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย ทั้งมือ เท้า เข่า ศอก รวมทั้งหัวด้วย มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว ในสมัยก่อนนิยมฝึกหัดกันในหมู่นักรบโบราณ เป็นที่นิยมชมชอบของชนทุกชั้น แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็มีปรากฏในพงศาวดาร ครั้งกรุงศรีอยุธยา ขุนหลวงสรศักดิ์ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม พระเจ้าเสือ ทรงนิยมชมชอบมวยมาก ถึงกับปลอมพระองค์ไปชกมวยตามหัวเมืองบ่อยครั้ง"
(จากหนังสือเชิดชูเกียรติ อาจารย์จำลอง นวลมณี ครูมวยโบราณของสกลนคร ผู้ที่สืบสานศิลปะการร่ายรำมวยโบราณ)  

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่อาจารย์จำลอง นวลมณีได้เล่าไว้อย่างน่าสนใจมาก คือ…. 
" เมื่อปี พ.ศ.2331 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีนักมวยฝรั่งสองพี่น้อง ล่องเรือกำปั่นท้าพนันชกมวยมาหลายหัวเมือง และชกชนะมาทั้งสิ้น ครั้นมาถึงกรุงเทพฯ ก็มาท้าพนันชกมวยกับคนไทย พระยาพระคลัง กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงทราบ จึงรับสั่งให้รับท้าพนัน วางเดิมพันเป็นเงิน 50 ชั่ง หรือ 4,000 บาท (สมัยนั้นก็มากแล้ว) สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา จึงจัดหานักมวย ชื่อ หมื่นผลาญ ซึ่งมีความรู้ทั้งมวยต่อยและมวยปล้ำ และดำรัสให้ปลูกพลับพลาใกล้โรงละครด้านทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประทับทอดพระเนตร ผลการชกปรากฏว่า นักมวยฝรั่งแพ้ไม้เป็นท่า เป็นที่น่าอับอายมาก"

นางศาสตร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้เขียนไว้ในหนังสือเชิดชูเกียรติ อาจารย์จำลอง นวลมณี ว่า
“ในสมัย 50 ปีมาแล้ว จะมีงานแห่ต่างๆ โดยเฉพาะงานประเพณีที่เรียกว่า งานบุญพระเวส ชาวสกลนคร 10 คุ้ม ก็มีการแห่กัณฑ์เทศน์ และแห่บั้งไฟไปตามถนนสายต่างๆ เพื่อทอดถวายองค์พระธาตุเชิงชุม โดยมีคณะนักมวยรำมวยออกหน้า มีปี่ ฆ้อง กลองประโคม เป็นเครื่องประกอบ เมื่อขบวนไปพบกันจะไม่มีใครหลีกทางให้กัน จึงมีการต่อสู้กันขึ้น”

ดังนั้น มวยโบราณจึงเป็นการต่อสู้ด้วยมือ เท้า เข่า ศอก มีมาก่อนมวยคาดเชือก (มวยคาดเชือกใช้ผ้าดิบ หรือบางครั้งใช้เชือกพันมือ สันนิษฐานว่า มีขึ้นในสมัยอยุธยา)

พ.ศ.2472 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดใจเกิดขึ้น เมื่อนายเจีย แขกเขมร ขอขึ้นทาบรัศมีกับ นายแพ เสียงประเสริฐ และผลการต่อสู้ในครั้งนั้น นายเจีย ถูกนายแพ ต่อยถึงแก่ความตายที่สนามมวย หลักเมือง ของพลโท พระยาเทพหัสดิน ตั้งแต่นั้นมวยคาดเชือกจึงต้องเลิกไป


การแสดงมวยโบราณ
แบ่งเป็น 3 ตอน คือ 
- ขบวนแห่มวยโบราณ
- ท่าไหว้ครูหรือรำเดี่ยว 
- การต่อสู้  
เป็นที่น่าสังเกตว่า มวยโบราณไม่ใช้การต่อสู้แบบเข้าคลุกวงใน ทั้งนี้เพราะจะทำให้เห็นลีลาท่าฟ้อนรำน้อยไป แต่นักมวยจะเข้าไปเล่นงานคู่ต่อสู้พร้อมกับถอยมาฟ้อนรำเป็นระยะๆ แล้วจึงบุกเข้าไปหรือเตรียมตั้งรับหรือตอบโต้คู่ต่อสู้   กล่าวได้ว่าความสนุกสนานของมวยโบราณ อยู่ที่ชั้นเชิงและกลเม็ดของนักมวยผู้ที่เจนจัด มักมีลูกเล่นกลเม็ดแพรวพรายทั้งท่ารุก ท่ารับ ซึ่งหมายถึงการฝึก หัดมาอย่างดีในท่ารุกเข้าพิชิตคู่ต่อสู้หลายแบบ นักมวยโบราณที่มีความคล่องตัวนิยมเล่นงานคู่ต่อสู้ด้วยเท้า ในขณะที่เสียเปรียบคู่ต่อสู้จนเสียหลัก นักมวยจะแก้ปัญหา เช่น การหลบ โดยหลบลอดได้อย่างเร็ว พร้อมใช้เท้าถีบคู่ต่อสู้ให้ล้มหรือใช้ศอกถอง แต่ก็ต้องระวังท่าจระเข้ฟาดหางจากฝ่ายตรงข้ามตอบโต้ด้วย มวยโบราณจึงมิใช่มวยที่ชกกันเอาแพ้ชนะเช่นมวยในปัจจุบัน แต่หากเป็นการต่อสู้ที่เน้นศิลปะของท่ารำ จึงควรให้เรียกว่าการรำมวยโบราณ มิใช่การชกมวยต่อยมวยเช่นในปัจจุบัน     

ท่าฟ้อนของมวยโบราณ อ่อนช้อยแต่เข้มแข็งทะมัดทะแมงอยู่ในการฟ้อนมวยโบราณ ท่าฟ้อนมวยโบราณนั้นทั้งหมดมี 14 ท่า คือ..
   1.  ท่าเสือออกจากเหล่า 
   2.  ท่าย่างสามขุม 
   3.  ท่ากุมภัณฑ์ถอยทัพ
   4.  ท่าลับหอกโมกขศักดิ์  
   5.  ท่าตบผาบปราบมาร 
   6.  ท่าทะยานเหยื่อเสือลากหาง 
   7.  ท่าไก่เลียบเล้า 
   8.  ท่าน้าวคันศร 
   9.  ท่ากินนรเข้าถ้ำ
 10.  ท่าเตี้ยต่ำเสือหมอบ 
 11.  ท่าทรพีชนพ่อ 
 12.  ท่าล่อแก้วเมขลา 
 13.  ท่าม้ากระทืบโรง
 14.  ท่าช้างโขลงทะลายป่า  

นอกจากนั้นยังมีท่ารำมวยโบราณแบบที่รำเป็นขบวนแห่อีก 9 ท่า คือ
   1.  ท่ากาเต้นก้อนขี้ไถ
   2.  ท่าหวะพราย
   3.  ท่าย่างสามขุม
   4.  ท่าน้าวเฮียวไผ่
   5.  ท่าไล่ลูกแตก-ตบผาบปราบมาร
   6.  ท่าช้างม้วนงวง
   7.  ท่าทวงฮัก กวักชู้
   8.  ท่าแหลวถลา กาตากปีก
   9.  ท่าเลาะเลียบตูบ

การแต่งกาย
มวยโบราณนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนแบบหยักรั้ง คือ ดึงชายกระเบนให้สูงขึ้น เพื่อให้เห็นลายสักที่ขา สีของผ้าโจงกระเบนนิยมสีแดงหรือสีน้ำเงิน ปล่อยชายหางกระเบน ห้อยลงมาพองาม มีผ้าคาดเอวสีแดงหรือ น้ำเงิน (ใส่สลับกับผ้านุ่ง คือ ถ้าผ้านุ่งสีแดง ผ้าคาดเอวก็สีน้ำเงิน)  ผ้าคาดเอวนี้จะช่วยรัดให้ผ้าโจงกระเบนแน่นกระชับ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ มีผ้าประเจียดโพกศีรษะ (ผ้าประเจียดคือ ผ้าลงยันต์ บรรจุมนต์ขลังของเกจิอาจารย์) นอกจากนั้นก็มีผ้ารัดต้นแขนทั้งสองข้าง เป็นผ้าสีแดง มีตะกรุดหรือเครื่องรางของขลังอยู่ข้างใน

  ท่ารำดังนี้



รำมวยโบราญ เป็นการรำที่ใช้เฉพาะผู้ชายแสดงเท่านั้น ท่าทางแต่ล่ะท่าและก็จะมีชื่อของแต่ล่ะท่า
และยังดูแข็งแรงหึกเหิม





ที่มา  http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=skolnakorn03.php

ฟ้อนหมากกั๊บแก้บ - ลำ หมากกั๊บแก้บ(กรับ)   เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะของภาคอีสาน มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ 1. กั๊บแก้บไม้สั้น เป็นไ...