ฟ้อนเล็บ
ภาคเหนือของประเทศไทยมีสภาพดินฟ้าอากาศค่อนข้างหนาวอากาศสดชื่นไม่แห้งแล้ง ฉะนั้นคนในภาคเหนือจึงมีนิสัยเยือกเย็น ศิลปะที่แสดงออกมาจึงมีลีลาค่อนข้างช้าอ่อนช้อยงดงามอยู่ในตัวเอง ประณีตในท่ารำ อันได้แก่ประเภทฟ้อนต่าง ๆ ตลอดถึงการแต่งกายอันเป็นสัญลักษณ์ของหญิงชาวเหนือ เมื่อพูดถึงฟ้อนคนไทยทุกคนจะต้องรู้จักและนึกภาพได้ทันที นับว่าฟ้อนเป็นตัวแทนของศิลปะภาคเหนือได้ดียิ่ง
ฟ้อนเล็บ หรือเรียกกันว่าฟ้อนครัวทาน ฟ้อนเมืองบ้าง ฟ้อนเล็บบ้าง ทั้ง 3 ชื่อนี้เป็นการ ฟ้อนชนิดเดียวกัน แต่เรียกไปตามสถานการณ์ของการฟ้อน เช่น การฟ้อนครัวทาน คือการฟ้อนนำขบวนแห่ของชาวบ้านที่จัดขึ้นเรียกว่า ครัวทาน” ซึ่งประกอบด้วยเครื่องอัฐบริขาร (ตั้งแต่ไม้กวาด หม้อน้ำยา และเงินทอง) เพราะประเพณีทางเหนือนั้นเมื่อพ้นการทำนาแล้วชาว บ้านก็จะมุ่งทำบุญมีการบูรณะวัด เป็นต้น ถ้าหมู่บ้านใดบูรณะวัดเรียบร้อยแล้ว ก็นิยมบอกบุญไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ก็ให้มาช่วยทำบุญฉลอง เช่นฉลองโบสถ์ วิหาร เป็นต้น จึงเรียกว่าฟ้อนครัวทาน หรือฟ้อนเมือง สมัยโบราณจะหาดูได้ยาก ถ้าจะดูการฟ้อนที่สวยงามและมีลีลาอันอ่อนช้อยต้องเป็นฟ้อนของคุ้มเจ้าหลวง เพราะผู้ฟ้อนส่วนมากล้วนแต่ฝึกหัดมาอย่างดี ใช้แสดงประกอบพิธีเฉพาะในงานสำคัญในพระราชฐานเท่านั้นผู้ฟ้อนโดยมากล้วนแต่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายในทั้งสิ้น
การฟ้อนครั้งสำคัญก็เมื่อคราวพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ทรงฝึกหัดเจ้านายและหญิงสาวฝ่ายในฟ้อนถวายรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 คราวเสด็จประภาสภาคเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2469 โดยครูนาศิลป์ของกรมศิลปากรได้ฝึกหัดจำไว้ ภายหายหลังจึงได้นำสอนและมีการฝึกหัดสืบต่อมา เช่นเป็นการฟ้อนรำชนิดหนึ่งของไทยชาวเหนือ ตามลักษณะของผู้ฟ้อน ซึ่งแต่งตัวแบบไทยชาวเหนือ แล้วสวมเล็บยาวทุกคน โดยผู้ฟ้อนสวมเล็บยาวทุกนิ้วเว้นนิ้วหัวแม่มือ แบบฉบับการฟ้อนที่ดีได้รักษากันไว้เป็นแบบแผนกันในคุ้มเจ้าหลวง จึงเป็นศิลปะที่ไม่สู้จะได้ชมกันบ่อยนัก การฟ้อนชนิดนี้ได้มาเป็น ที่รู้จักแพร่หลายในกรุงเทพฯ คราวงานสมโภชพระเศวตคชเดชน์ดิลกฯช้างเผือกในรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2470
ต่อมาการฟ้อนแบบนี้ก็ซบเซาไปพักหนึ่ง ไม่ค่อยจะได้ดูกันบ่อยนัก มีอยู่บ้างที่หัดฟ้อนกันขึ้นเป็นครั้งคราว แต่การฟ้อนและลีลาต่าง ๆ ไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรที่แน่นอน ทั้งนี้แล้วแต่ครูผู้ฝึกจะดำเนินการสอนแบบไหน ทั้งท่าทางและจังหวะการฟ้อน ฉะนั้นการฟ้อนในระยะนี้จึงแหตกต่างกันอออกไป ในปี พ.ศ. 2474 เจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ธิดาของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ท่านเป็นผู้รักศิลปะทางนี้มาก จึงได้รวบรวมเด็กหญิงในคุ้มให้ครูหลวงเป็นผู้ฝึกหัดในแบบต่าง ๆ ทั้งนี้ เจ้าแก้วนวรัฐ ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี จึงประทานให้หม่อมแส ซึ่งเป็นหม่อมของท่านและมีความรู้เชี่ยวชาญในศิลปะการฟ้อน เป็นผู้ควบคุมการฝึกหัด ในระยะนี้ต้องใช้เวลาทั้งปรับปรุงท่าทาง เครื่องแต่งกายและดนตรี เพื่อความเหมาะสมเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นแบบอย่างที่เชื่อถือได้ ในระหว่างการฝึกอบรมนี้ ก็ได้มีการจัดการแสดงต้อนรับแขกเมือง และให้ประชาชนชมอยู่เสมอ เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐได้พิราลัย (ตาย) ไป แล้ว การฟ้อนรำเหล่านี้จึงชะงักไป แต่ก็มีอยู่บ้างตามโรงเรียนต่าง ๆ และวัดแทบทุกวัด
ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จประภาสจังหวัดเชียงใหม่ บรรดา ครู นักศึกษา ตลอดจนวัดต่าง ๆ ได้พากันฟื้นฟูการฟ้อนขึ้นอีกเพื่อเป็นการรับเสด็จฯ และต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่มาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับความสนพระทัยและสนใจจากพระราชอาคันตุกะเป็นอันมาก ปัจจุบันการฟ้อนชนิดนี้มีอยู่ตามวัดต่าง ๆ และในหมู่นักเรียน นักศึกษา เพราะถือว่าเป็นวัฒนธรรม ผู้แสดง แต่ละชุดของแต่ละหมู่บ้าน จะใช้จำนวนคนแตกต่างกันไปบ้าง แต่ที่นิยมกันมากคือ จำนวน 4 คู่ หรือ 8 คน และจะไม่เกิน 16 คน แต่ก็ไม่ได้ห้ามว่าเกิน 16 คน ไม่ได้ ข้อสำคัญต้องเป็นจำนวนคู่
การแต่งกาย จะแต่งกายแบบไทยชาวภาค เหนือสมัยโบราณ นุ่งผ้าซิ่นมีเชิงลายขวาง เสื้อคอกลมแขนยาว และห่มผ้าสไบเฉียงทับ เกล้าผมมวยสูงทัดดอกไม้และห้อยอุบะ และสวมเล็บยาวทั้ง 8 นิ้ว เว้นแต่นิ้วหัวแม่มือ การแต่งกายสมัยก่อน ถ้าเป็นฟ้อนธรรมดาของแต่ละหมู่บ้าน การแต่งกายจะเป็น 2 ลักษณะคือ
1. ใส่ เสื้อคอกลมแขนกระบอก เอวรูด ไม่ห่มผ้า ผ้าซิ่นจะเป็นแบบลายขวาง ต่อเอวดำตีนดำ (ตีน คือเชิงผ้าของผ้าซิ่น )
2. ใส่ เสื้อคอกลมแขนกระบอก เอวปล่อย ห่มผ้า ใส่สร้อย ผ้าซิ่นให้ใช้ผ้าตีนจก หรือผ้าทอ (การแต่งกายในข้อนี้ จะใช้แต่งในงานใหญ่และในคุ้มเจ้านาย)การแต่งกายจะเหมือน กันทั้งหมดหรือเหมือนกันเฉพาะคู่ก็ได้
ฟ้อนเล็บ แต่เดิมเรียก “ฟ้อนเล็บ” ด้วยเห็นว่าเป็นการฟ้อนที่เป็นเอกลักษณ์ของ “คนเมือง” ซึ่งหมายถึงคนในถิ่นล้านนาที่มีเชื้อสายไทยวน และเนื่องจากการเป็นการแสดงที่มักปรากฏ ในขบวนแห่ครัวทานของวัดจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟ้อนแห่ครัวทาน” ต่อมามีการสวมเล็บที่ทำด้วยทองเหลืองทั้ง 8 นิ้ว (ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) จึงได้ชื่อว่า “ฟ้อนเล็บ”
ท่าฟ้อน
การฟ้อนชนิดนี้มีมาแต่ดั้งเดิม คณะศรัทธาของแต่ละวัดมักมีครูฝึกสืบทอดต่อกันมา เมื่อถึงฤดูกาลที่จะมีงานปอยหลวง ซึ่งเป็นงานฉลองศาสนสถาน มักมีการฝึกซ้อม เด็กสาวในหมู่บ้านเพื่อแสดงในงานดังกล่าวเสมอ โดยที่รูปแบบกระบวนและลีลาท่าฟ้อนไม่ได้กำหนดตายตัว แต่ละครูหรือแต่ละวัดอาจแตกต่างกันไป ในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้มีการปรับปรุงและประดิษฐ์ท่าฟ้อนให้ดูอ่อนช้อยงดงามยิ่งขึ้น และบุคคล ผู้หนึ่งซึ่งเคยได้รับการถ่ายทอดจากคุ้มเจ้าหลวงได้แก่ ครูสัมพันธ์ โชตนา ในโอกาสที่ครูสัมพันธ์ได้เข้าไปถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนชนิดนี้แก่วิทยาลัย นาฏศิลป์เชียงใหม่ ท่านได้กำหนดท่าฟ้อนไว้ 17 ท่าดังนี้
1. จีบส่งหลัง
2.กลางอัมพร
3. บิดบัวบาน
4. จีบสูงส่งหลัง
5. บัวชูฝัก
6. สะบัดจีบ
7. กราย
8. ผาลาเพียงไหล่
9. สอดสร้อย
10. ยอดตอง
11. กินนรรำ
12. พรหมสี่หน้า
13. กระต่ายต้องแร้ว
14. หย่อนมือ
15. จีบคู่งอแขน
16. ตากปีก
17. วันทาบัวบาน
ท่ารำต่างๆ ดังกล่าว อาจมีการเพิ่มท่า ตัดตอน หรือลำดับท่าก่อนหลังตามที่ครูจะกำหนด
เครื่องแต่งกาย
การแต่งกายแต่เดิมจะนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอกคอกลม หรือคอจีนผ่าอก เกล้าผมมวยโดยขมวดมวยด้านท้ายทอย ทัดดอกไม้ประเภทดอกเอื้อง จำปา กระดังงา หางหงส์ หรือลีลาวดี สวมเล็บทั้งแปดนิ้ว ต่อมามีการ ดัดแปลงให้สวยงามโดยประดับลูกไม้ หรือระบายที่คอเสื้อ ห่มสไบเฉียงจากบ่าซ้ายไปเอวขวาทับด้วยสังวาล ติดเข็มกลัด สวมกำไลข้อมือ กำไลเท้า เกล้าผมแบบญี่ปุ่น ทัดดอกไม้หรืออาจเพิ่มอุบะห้อยเพื่อความสวยงาม
เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบจังหวะในการฟ้อน จะใช้วงกลอง “ตึ่งโนง” ซึ่งประกอบด้วย
1. กลองแอว
2. กลองตะหลดปด
3. ฆ้องอุ้ย(ขนาดใหญ่)
4. ฆ้องโหย้ง(ขนาดกลาง)
5. ฉาบใหญ่
6. แนหน้อย
7. แนหลวง
เพลงที่ใช้บรรเลง
สำหรับเพลงที่ใช้บรรเลง ก็แล้วแต่ผู้เป่าแนจะกำหนดอาจใช้เพลงแหย่ง เพลงเชียงแสน เพลงหริภุญชัยหรือลาวเสี่ยงเทียน แต่ส่วนใหญ่จะใช้เพลงแหย่งเพราะช่างฟ้อนคุ้นกับเพลงนี้มากกว่าเพลงอื่น
โอกาสที่แสดง
เดิมจะฟ้อนในงานฉลองสมโภช เพื่อนำขบวนทานหรือเป็นมหรสพในงาน ปัจจุบันมีการแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชม จึงมีปรากฏให้เห็นตามโรงแรม ห้องอาหารโดยทั่วไป
อนึ่งการฟ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ ถ้าถอดเล็บออกและขณะที่ฟ้อนก็ถือเทียนไปด้วย เรียกว่า “ฟ้อนเทียน” การฟ้อนโดยลักษณะการนี้มีความเป็นมาว่าในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีการแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินฯ เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2469 ในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ พลับพลาที่ประทับ งานนี้พระราชชายาฯ ทรงให้ช่างฟ้อนเล็บถอดเล็บทองเหลืองออก แล้วให้ถือเทียนทั้งสองมือ เวลาออกไปฟ้อนก็จุดเทียนให้สว่าง การฟ้อนครั้งนั้นสวยงามเป็นที่ประทับใจ จึงเป็นต้นเหตุว่า หากมีการฟ้อนชนิดนี้ถ้าเป็นเวลากลางวันให้สวมเล็บแต่ถ้าเป็นกลางคืนให้ถือ เทียน และการที่ฟ้อนเทียนนี่เองเป็นเหตุให้ใช้เพลง “ลาวเสี่ยงเทียน” ประกอบการฟ้อน
ความเป็นเอกลักษณ์
หากจะถามถึงความเป็นเอกลักษณ์ของฟ้อนเล็บแล้ว ถ้าจะตอบว่าคือท่าฟ้อน และการแต่งกายยังตอบไม่ได้ เต็มคำเพราะถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ค่อนข้างมาก หรือตอบว่าอยู่ที่เล็บก็ยังไม่ใช่เพราะการรำมโนราห์ ของภาคใต้ก็สวมเล็บ การฟ้อนผู้ไทของ จังหวัดสกลนครก็สวมเล็บเช่นกัน แม้จะมีพู่ไหมพรมสีแดงตรงปลายเล็บก็ตาม และคำตอบที่น่าจะใกล้เคียงได้แก่ เครื่องดนตรีและเพลงประกอบการฟ้อน และที่น่าจะถูกต้องมากที่สุด เห็นจะได้แก่ ภาพรวมทั้งหมด เพราะใครพบเห็นฟ้อนชนิดนี้ที่ไหน ก็ต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นฟ้อนเล็บ ซึ่งเป็นการแสดงที่อ่อนช้อยงดงาม ตามแบบฉบับของคนเมืองชาวล้านนาโดยแท้
ท่ารำดังนี้
ฟ้อนเล็บ เป็นการแสดงของภาคเหนือ ท่ารำแต่ละท่ามีความสละสลวยและเป็นท่ารำที่นาฏศิลป์ไทยให้เป็นพื้นเมืองมาตรฐาน
ที่มา https://sites.google.com/site/ajanthus/fxn-leb
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น