วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560



ฟ้อนหมากกั๊บแก้บ - ลำ



หมากกั๊บแก้บ(กรับ)  เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะของภาคอีสาน มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ

1. กั๊บแก้บไม้สั้น เป็นไม้ผิวเรียบยาวประมาณ 4-6 นิ้ว
2. กั๊บแก้บไม้ยาว เป็นไม้ผิวเรียบมีการหยักร่องฟันปลา เพื่อขูดกันให้เกิดเสียง

การเล่นหมากกั๊บแก้บนั้น สามารถเล่นได้ทุกโอกาสที่มีการบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน  และผู้เล่นส่วนใหญ่มักจะแต่งกายเหมือนชาวอีสานโบราณ คือนุ่งผ้าเตี่ยวมีการสักลวดลายบนร่างกาย ปัจจุบันไม่นิยมการสัก จึงมักจะใช้สีเขียนลวดลายขึ้นแทน เช่นลายเสือผงาด ลายหนุมานถวายแหวน ลายนกอินทรี ลายมอม ลายสิงห์ เป็นต้น

การเล่นหมากกั๊บแก้บ เป็นการเล่นที่ไม่มีรูปแบบตายตัว สุดแท้แต่ใครมีความสามารถในการแสดงออกถึงลีลาท่าทางที่โลดโผนให้เป็นที่ประทับใจของหญิงสาวได้มากน้อยเพียงใด  หากเล่นกันเป็นคู่มีฝ่ายรุกฝ่ายรับ แล้วเปลี่ยนลีลาสลับกันก็ขึ้นอยู่กับโอกาสและปฏิภาณของผู้เล่น

ลำเพลิน  เป็นการขับลำอีกประเภทหนึ่งของชาวอีสาน สันนิษฐานว่าการขับลำเพลินมาจากการลำทำนองตีกลองน้ำเพราะจังหวะลีลาท่วงทำนองคล้ายคลึงกันมาก

หมอลำเพลิน ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยใดไม่สามารถระบุหลักฐานได้แน่ชัด แต่ก็เป็นทำนองกลอนลำที่นิยมกันอย่างกว้างขวางทั้งในภาคอีสานและประเทศลาว ตั้งแต่ พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบัน บางคนก็เรียกทำนองหมอลำชนิดนี้ว่าหมอลำแก้วหน้าม้า อันเนื่องมาจาก แต่เริ่มเดิมทีนั้นหมอลำเพลินนิยมเล่นเรื่อง “แก้วหน้าม้า” เพียงอย่างเดียว ในสมัยต่อมาก็มีการเล่นเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งชาวอีสานจะนิยมเรียกว่า “ขุนแผน-ลาวทอง” เพราะนิยมเล่นตอนนางลาวทองเขียนสาสน์ ปัจจุบัน ลำเพลินพัฒนาตนเองไปอย่างรวดเร็ว จึงนิยมนำเอาวรรณกรรมและนิทานพื้นบ้านมาใช้เล่นกันอย่างกว้างขวาง

ความไม่พิถีพิถัน ของคณะหมอลำและผู้จัดการวงหมอลำในปัจจุบัน ทำให้ภาพลักษณ์ของหมอลำเพลิน เกือบจะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน เพราะในขณะนี้หมอลำเพลินแทบทุกคณะ นิยมนำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ในการบรรเลงเพลงประกอบการแสดง แทบจะไม่เหลือความเป็นขนบดั้งเดิมของหมอลำ กลอนลำที่ใช้ก็ไม่ถูกต้องตรงกับเนื้อเรื่อง มักจะลำไปเรื่อยๆตามคำกลอนของผู้เขียนเพลงจะคิดได้

นายชุมเดช  เดชภิมล อาจารย์2 แห่งวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด (**ปัจจุบัน อยู่ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)  ได้ผนวกการเล่นหมากกั๊บแก้บเข้ากับการเล่นลำเพลินของชาวอีสาน โดยยังคงลีลาการเล่นหมากกั๊บแก้บและการฟ้อนลำเพลินไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งมีผู้แสดงร่วมทั้งชายและหญิง

จุดเด่นของการฟ้อนหมากกั๊บแก้บ-ลำเพลิน อยู่ที่จังหวะลีลาท่วงทำนองดนตรี ประกอบกับท่าฟ้อนของชาวอีสาน เช่น ท่าถวยแถน ท่าหมาเยี่ยว ท่าลอยปลากระเดิด ท่าเสือตะครุบ ท่าดาวน้อย ท่าลำเพลินท่าบัวหุบ-บัวบาน ท่าส่าย ท่าเนิ้ง ฯลฯ ดนตรีบรรเลงลายแมงตับเต่า และทำนองหมอลำอัศจรรย์ลายลำเพลิน


การแต่งกาย 
- ชาย สวมเสื้อยันต์แขนกุดสีขาวขอบชายเสื้อสีแดง นุ่งผ้าลายโสร่ง เป็นโจงกระเบนรั้งสูงถึงต้นขา ม้วนปลายผ้าสอดไปด้านหลัง (เรียกลักษณะการนุ่งผ้าเช่นนี้ว่า การนุ่งแบบเสือลากหาง) มัดศีรษะด้วยผ้าขาวม้า และมัดเอวด้วยผ้าขิด
- หญิง สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มทับด้วยสไบขิด นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ยาวคลุมเข่า ผมเกล้ามวยประดับมวยผมด้วยดอกไม้ และสวมเครื่องประดับเงิน 




ท่ารำดังนี้



ฟ้อนหมากกั๊บแก้บ - ลำเพลิน เป็นการฟ้อนคู่ ท่ารำก็จะเกี้ยวพาราษีกันและจังหวะการรำก็นจะเป็นออกสนุกสนาน


  

ที่มา   http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=roied04.php


ฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ


ประเพณีการสู่ขวัญ เป็นประเพณีตามศาสนาพราหมณ์ที่นิยมกระทำสืบต่อกันมาอย่างช้านาน ถือว่าเมื่อได้มีการทำพิธีนี้แล้วจะก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต การทำพิธีีสู่ขวัญนี้จะกระทำเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ดีเป็นมงคล เช่นพิธีแต่งงาน การหายจากป่วยไข้ การมาหรือกลับจากสถานที่ใดๆ การไปค้าขายได้เงินทองมามาก การมีแขกมาเยี่ยมยามจากต่างถิ่น ฯลฯ แม้แต่เหตุการณ์ที่ไม่ดี เช่น การได้รับความเจ็บป่วย คนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุหรือต้องเสียชีวิต (เหตุการณ์นี้จะทำพิธีให้แก่ผู้ที่รอดจากเหตุดังกล่าว) การสู่ขวัญ คือการเรียกขวัญ หรือเอิ้นขวัญ 
ชาวอีสานมีความเชื่อว่า “ขวัญ” เป็นสิ่งที่แฝงอยู่กับตัวของมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะจับต้องหรือไม่สามารถมองเห็นได้ หากว่ามีเหตุให้ขวัญหนีออกจากตัว เช่น เกิดอุบัติเหตุ เสียใจ ป่วยไข้ ตกใจรุนแรง อาจทำให้ตัวบุคคลนั้นถึงแก่ความตายได้ ฉะนั้นต้องเรียกขวัญกลับมาสู่ตัวจะทำให้สุขสบายขึ้น 

บาศรี เป็นคำเรียกพราหมณ์ด้วยความเคารพ พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีสู่ขวัญ จึงเรียกว่า บาศรีสู่ขวัญ ซึ่งหมายถึงพราหมณ์ทำพิธีสู่ขวัญ

บายศรี มาจากคำว่าบาย+ศรี บาย แปลว่า สัมผัส จับ ต้อง ศรี แปลว่า สิริ มงคล สิ่งที่ดี บายศรี หมายความถึง การรวบรวมเรียกเอาสิริมงคลต่างๆ ด้วยกิริยาวิธีทางกาย ทางวาจา และทางใจ แม้ว่าศรี หรือ สิริ จะไม่สามารถบายหรือสัมผัสจริงๆได้ด้วยมือ แต่ที่ใช้คำว่าบาย เนื่องจากต้องการสื่อในความหมายเชิงรูปนัยเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย มิใช่นามนัย พราหมณ์จึงใช้วิธีเชิญสิริเข้ามาอยู่ในข้าว ไข่ต้ม หรือฝ้ายผูกข้อมือ เป็นต้น แล้วบายเอาข้าวหรือไข่ต้มส่งให้ผู้เข้ารับบายศรีกิน นำฝ้ายไปผูกข้อมือ ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีเชิงรูปธรรม ในส่วนที่เป็นนามธรรมนั้น จะรับสิริทางใจหรือความรู้สึกโดยตรง

บายศรีสู่ขวัญ จึงหมายถึงการรวบรวมเรียกเอาหรือเชิญสิริมงคลต่างๆ ด้วยกิริยาวิธีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้มาสถิตที่ขวัญ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อความสุข สวัสดี 
การแต่งกาย 
ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกสีขาว ห่มสไบขิด และนุ่งผ้าซิ่นลายขิด(ผ้าซิ่นขิดอุดรธานี) ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้หรือพันมวยผมด้วยฝ้ายภูไท สวมเครื่องประดับเงิน

ท่ารำดังนี้

ฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ เป็นการฟ้อน ที่ภาคอีสานคุ้นเคยกันดีคือ ฟ้อนบายศรีสู่ขวัญเป็นประเพณีของชาวอีสานอยู่แล้ว ท่ารำก็ประดิษฐ์ออกมาได้สวยงามและไม่ยาก เกินไปคนที่มีพื้นฐานก็สามารถที่จะรำได้




ที่มา http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=udorn01.php


ฟ้อนเก็บฝ้าย

ฟ้อนเก็บฝ้าย เป็นการแสดงที่สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของชาวไทอีสาน โดยเฉพาะชาวไทเลยและชาวไทในจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีการทอผ้าฝ้ายมาใช้ในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก

ฟ้อนเก็บฝ้าย ได้ประดิษฐ์คิดค้นการแสดงโดย คณาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้ออกทำการแสดงเผยแพร่ครั้งแรกในงาน “ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย” แสดงให้เห็นถึงการเก็บดอกฝ้ายของหญิงสาวชาวบ้าน โดยจะมีชายหนุ่มเข้ามาหยอกล้อในระหว่างกำลังที่ตากฝ้าย และช่วยถืออุปกรณ์ในตอนท้ายอีกด้วย 

การแต่งกาย

- หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำตัดขอบแดง ใช้ผ้าแพรวาแดงมัดศีรษะและปล่อยชายมาด้านซ้าย นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สลับจกสีดำ สะพายกระหยัง และสวมเครื่องประดับเงิน
- ชาย สวมเสื้อย้อมครามแขนสั้น นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าแพรขิดแดงโพกศีรษะและมัดเอว 

ท่ารำดังนี้


ฟ้อนเก็บฝ้าย เป็นการฟ้อนของอีสานเหนือ ท่าทางก็จะเอามาจากกการเก็บฝ้ายของชาวบ้าน
และเป็นการรำที่สนุกสนาน



ที่มา http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=roied12.php


เซิ้งโปง


โปง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระปุง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตี เป็นอาณัติสัญญาณบอกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวัดแทนการตีระฆัง หรือฆ้องและกลอง ถ้าโปงขนาดใหญ่มากเสียงก็จะทุ้มหรือต่ำตามขนาดของโปง ถ้าโปงมีขนาดเล็ก เสียงก็จะเล็กตามด้วย 

เวลาที่กระทุ้งโปงหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การ “ถั่งโปง”
1. กระทุ้งเวลาเช้า ก่อนบิณฑบาต เพื่อให้ญาติโยมเตรียมตัวตักบาตร
2. กระทุ้งเวลาเย็น เพื่อประโยชน์ให้คนที่หลงป่ากลับเข้ามาถูกทิศ
3. กระทุ้งเวลาย่ำค่ำ ในช่วงเข้าพรรษา เพื่อให้พระลงทำวัตรเย็น
4. กระทุ้งเวลาวิกาล แสดงว่า เกิดเหตุร้ายขึ้นในวัดและแจ้งข่าวสารให้ชาวบ้านได้ทราบว่าทางวัดขอความช่วยเหลือ

นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน กองศิลปศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ได้นำท่าทางที่ประมวลจากกริยาและขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำโปงมาประยุกต์ให้เข้ากับลักษณะพื้นฐาน และแนวความคิด ด้านการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านภาคอีสาน กลายเป็นการแสดงชุดใหม่ และเรียกชื่อการแสดงชุดใหม่ ตามลักษณะของอุปกรณ์ที่ประกอบการแสดงว่า "เซิ้งโปง"

รูปแบบการแสดง

แบ่งการแสดงออกเป็น 2 ตอน และใช้ผู้แสดง 2 กลุ่ม

ตอนที่ 1
ใช้ผู้แสดง 8 คน ชาย 5 หญิง 3 คน แสดงให้เห็นขั้นตอนของการทำโปง โดยเริ่มตั้งแต่การออกไปหาไม้ไผ่, การผึ่งไม้ให้แห้งบากทำรูแพ, ติดขาโปง, เจาะรูร้อยเชือก แคนเป่า เกริ่นแคนประกอบการดำเนินเรื่อง และวงดนตรีโปงลางบรรเลงประกอบท่าทาง

ตอนที่ 2
ใช้ผู้แสดง 12 คน เป็นหญิงล้วน แสดงให้เห็นถึงลักษณะของโปงที่ประดิษฐ์เรียบร้อย แล้วนำมาสั่นเป็นลายพื้นบ้านอีสานคือ ลายโปงลางและช่วงสุดท้ายเป็นการนำโปงมาเคาะเป็นจังหวะ ประกอบกับท่าเซิ้งเหมือนการขยับกรับ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ได้จัดลำดับที่มีอยู่แล้วให้เหมาะกับท่าเซิ้งโปง ดังนี้ ลายน้ำท่วมทุ่ง ลายโปงลาง ลายสาวชมหาด และลายเป่าใบไม้

การแต่งกาย

ตอนที่ 1 ชาย สวมเสื้อหม้อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว โพกศีรษะและสะพายย่าม
หญิง สวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก ห่มสไบ นุ่งผ้าถุงมัดหมี่ใช้ผ้าแพรฟอยมัดมวยผม

ตอนที่ 2 ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ห่มผ้าสไบแดงเหน็บชายด้านซ้าย นุ่งผ้าซิ่นพื้นบ้านภาคอีสาน พาดผ้าแพรวาสีขาวที่ไหล่ขวา สวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินเกล้าผมมวย ประดับดอกไม้รังไหม 


ท่ารำดังนี้


เซิ้งโปง เป็นการรำของภาคอีสานอีกการแสดงหนึ่ง เป็นการเอาท่ารำมาจากชีวิตประจำวันและได้มาประดิษฐิ์ออกเป็นท่ารำต่างๆ ที่สวยงาม


ที่มา  http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=kalsin07.php

ฟ้อนสาละวัน
ลำสาละวัน เป็นวัฒนธรรมของชนชาติลาวอีกประเภทหนึ่ง การลำสาละวันที่เก่าแก่ที่กำเนิดมาจากการทรงผีไท้ผีแถน ตามความเชื่อดั้งเดิมแล้วกลายมา เป็นมหรสพของชุมชน แล้วได้ประยุกต์เพิ่มกลอนลำให้เกิดความสนุกสนาน ประกอบท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยอิสระตามธรรมชาติ แรกเริ่มเป็นการเล่นโดยทั่วไปในหมู่ชาวบ้าน แล้วแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย ได้รับความนิยมมายาวนาน ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ จังหวะสม่ำเสมอ 


เนื้อความของลำสาละวัน นอกจากจะสะท้อนให้เห็นแนวทางการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิงแล้ว โวหารเปรียบเทียบที่ใช้ในกลอนลำ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความงามของการใช้ภาษา นอกจากนั้น ท่วงทำนองของการลำ ยังมีการเอื้อนที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว
“ลำสาละวัน” จึงเป็นเอกลักษณ์ของชาวสาละวันมายาวนาน ยังคงไว้ซึ่งความไพเราะ และเป็นการร้อยเรียงภาษาที่บอกเล่าเป็นทำนอง ให้ทราบถึงอดีตที่รุ่งเรืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้อย่างดียิ่ง


การแสดงชุด "ฟ้อนสาละวัน" ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรก โดย อาจารย์วีณา วีสเพ็ญ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม โดยได้กลอนลำสาละวันมาจากคนลาวอพยพ ซึ่งฟ้อนสาละวันนี้ เป็นแบบของวงแคนหรือแบบของ อ.วีณา 

การแสดงชุด “ฟ้อนสาละวัน”  อีกแบบหนึ่งเป็นแบบของวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด โดยคณาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด เล็งเห็นคุณค่าความไพเราะของทำนองและบทร้อง ตลอดจนท่าฟ้อนรำที่สื่อความหมายตามแบบศิลปะพื้นบ้านที่บริสุทธิ์ รวมไปถึงความสวยงามของลวดลายที่ปรากฏบนผ้าทอของชาวสาละวัน โดยพยายามอนุรักษ์การฟ้อนแบบดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด โดยไปศึกษาการขับลำสาละวันและท่าฟ้อนสาละวัน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วนำกลับเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยอีกครั้ง จึงได้นำฟ้อนประกอบการลำสาละวันมาจัดระเบียบแบบแผนการแสดงใหม่ โดยดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบในการแสดงวงโปงลาง แต่ยังคงรูปแบบไว้ดั้งเดิมเอาไว้อย่างครบถ้วน 


การแต่งกาย (แบบวนศ.ร้อยเอ็ด)
- ชาย สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นสีเขียวลายจกดิ้นทอง นุ่งผ้าโจงกระเบนสีเขียว ใช้ผ้าสไบจกลุ่มน้ำโขงมัดเอว สวมสร้อยทอง และกำไลทอง
- หญิง สวมเสื้อที่มีไหล่เสื้อด้านซ้ายสีเขียว ซึ่งเป็นแบบเสื้อชุดประจำชาติของลาว ห่มสไบจกดิ้นทองและนุ่งผ้าซิ่นจกสีแดงยกดิ้นทอง ผมเกล้ามวยสูง รวบผมตึงเบี่ยงมวยผมไปทางซ้าย มัดมวยผมด้วยสายลูกปัดทอง ปักปิ่นทองที่ยอดมวยผม สวมเครื่องประดับทอง เช่น สร้อย ต่างหู กำไล เข็มขัด 

ท่ารำดังนี้


ฟ้อนสาละวัน เป็นการฟ้อนที่ออกท่าทางสนุกสนาม และท่าแต่ละท่ามีความอ่อนช้อยและสวยงาม
การแสดงชุดนี้ได้อิธิพลมาจากประเทศลาว ก็จะรำคล้ายๆ กัน




ที่มา  http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=roied02.php


ฟ้อนไทภูเขา



ฟ้อนไทภูเขา เป็นการแสดงที่สื่อถึงภาพวิถีชีวิตในการทำมาหากินของชาวภูไทที่อาศัยตามแนวเทือกเขาภูพาน อันเป็นแนวทิวเขาที่ทอดยาวพาดผ่านหลายจังหวัดในอีสานตอนบน แสดงถึงการหาของป่าหรือการหาพืชพันธุ์เพื่อนำมาใช้ประกอบอาหาร 

การแสดงชุดนี้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ โดยการเข้าไปลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลการทำมาหากิน ที่หมู่บ้านของชาวภูไทบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการเป็นหมู่บ้านต้นแบบการทอผ้าสไบไหมแพรวาของชาวภูไท ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์ แหล่งอื่นๆก็นิยมทอกันอย่างแพร่หลาย

การแสดงชุด “ฟ้อนไทภูเขา” แสดงถึง การเดินขึ้นภูเขา การขุดหาหน่อไม้ เก็บเห็ด เก็บผักหวาน เก็บใบย่านาง และการตัดหวาย จึงเป็นการแสดงที่มีความโดดเด่น ในการสื่อถึงการทำมาหากินและความสวยงามของผ้าไหมแพรวา ของชาวภูไทที่นำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายของนักแสดง

ดนตรีที่ใช้ เริ่มต้นจากลายภูไท ที่มีทำนองช้าแล้วขึ้นลายใหม่ที่มีจังหวะและทำนองที่สนุกสนาน 

การแต่งกาย
-  หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีแดง ใช้ผ้าสไบไหมแพรวาสีแดงพับครึ่งเป็นตัว V ที่ด้านหน้าให้ปลายผ้าทั้งสองข้างพาดไหล่ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สีดำมีตีนซิ่นยาวคลุมเข่า พันศีรษะด้วยผ้าแพรวาสีแดงปล่อยให้ชายครุยของปลายผ้าปรกใบหน้า สวมเครื่องประดับเงิน และสะพายหลังด้วยเครื่องจักสานลักษณะตะกร้าสะพายหลัง ชาวภูไทเรียกเครื่องจักสานชนิดนี้ว่า “กระม้อง”
-  ชาย สวมเสื้อสีครามมีการตกแต่งเสื้อด้วยแถบผ้าลายแพรวา นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าแพรวาแดงพันศีรษะและมัดเอว สะพายย่ามลายขิดสีแดง




ท่ารำดังนี้



 ฟ้อนไทภูเขา เป็นการฟ้อนที่สนุกสนาน เป็นชาวอีสานที่อยู่บนเขา และท่าทางก็ได้มาจากชีวิตประจำวันของชาวบ้านเลย



ที่มา  



รำมวยโบราญ


ภาคอีสานในสมัยโบราณก่อนที่จะมีมวยคาดเชือก มวยเวที มีมวยแบบหนึ่งเรียกกันหลายชื่อ เช่น มวยลาว บ้าง เสือลากหาง บ้าง มวยดังกล่าวนี้นิยมฝึกหัดตามคุ้มวัดตามหมู่บ้าน เพื่อให้มีกำลังวังชา สามารถต่อสู้ป้องกันตัวได้ และในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความสวยงามของลีลาท่ารำท่าฟ้อน มีการร่ำเรียนเวทมนต์คาถา เสกเป่าหมัดเข่าให้มีพละกำลังแข็งแกร่งจนคู่ต่อสู้ทำอันตรายไม่ได้ 

ในปัจจุบันจังหวัดสกลนครเป็นแหล่งเดียวที่ยังมีมวยโบราณในงานเทศกาลงานบุญประเพณี เช่น เทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาในเทศกาลออกพรรษา ในเทศกาลงานบุญเหล่านี้ ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่ของคุ้มวัดเข้าร่วมขบวนอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะชาวสกลนครในเขตรอบๆตัวเมือง ถือกันมาแต่โบราณว่าเมื่อถึงเทศกาลบุญพระเวสเทศน์มหาชาติแล้ว ชาวคุ้มจะจัดเป็นขบวนแห่ฟ้อนรำไปตามถนน ผ่านหน้าบ้านผู้คนเพื่อบอกบุญ ทำบุญร่วมกันถวายแด่องค์พระธาตุเชิงชุม ขบวนแห่ของชาวคุ้ม นอกจากจะประกอบด้วยผู้คนทั้งหนุ่มสาว เฒ่าชราแต่งกายสวยงามตามแบบพื้นเมือง ฟ้อนรำไปตามถนนหนทางแล้ว ยังมีนักมวยของแต่ละคุ้มนำหน้าขบวนเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น นักมวยแต่ละคนจะนุ่งโจงกระเบนหยักรั้งปล่อยชายกระเบนห้อยลงมาพองาม ด้วยเหตุนี้เอง ชาวบ้านจึงมักเรียกนักมวยว่า "พวกเสือลากหาง"
ผู้รำมวยโบราณนอกจากจะแต่งด้วยผ้าหยักรั้งปล่อยห้อยชายกระเบนแล้ว ตามเนื้อตัวตามขายังนิยมสักลายท่อนบนมักจะเป็นรูปสัตว์ที่แผงอก เช่น รูปครุฑ รูปงู รูปเสือ หนุมาน ส่วนตามโคนขาก็จะสักลายเป็นรูปพืชผัก เช่น ลายต้นข้าว ผักกูด คติความเชื่อในเรื่องสักลายนี้แต่โบราณถือว่าเป็นสัญลักษณ์ความเข้มแข็งเป็นที่พึงพอใจของสตรีเพศ

บางรายอาจมีคติเรื่องความคงกะพันผสมกับความสวยงามด้วย นักมวยโบราณจะมีตะกรุดรัดแขน ภายในตะกรุดมีเครื่องรางของขลังที่ตนนับถือ สวมมงคลที่ศีรษะในขณะที่ไหว้ครู เช่นเดียวกับมวยเวทีในปัจจุบัน และจะถอดมงคลออกเมื่อถึงเวลาที่จะร่ายรำหรือต่อสู้ 

ความงดงามของมวยโบราณอยู่ที่ท่าทางการไหว้ครู ซึ่งใช้ลีลาจากอากัปกิริยาของสัตว์ เช่น เสือ ช้าง ม้า วัว ควาย มาดัดแปลงด้วยลีลาของนักมวย แล้วเคลื่อนไหวเหยาะย่างให้เข้ากับเสียงกลองเสียงแคน นักมวยบางคน ยังนำเอาท่าทางของลิงของยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์ มาประดิษฐ์เป็นท่าทางร่ายรำอย่างสวยงาม อันเนื่องมาจากความงดงามของนักมวยโบราณ ซึ่งเป็นศิลปะผสมผสานระหว่าง นาฏศิลป์พื้นบ้านอีสานและชั้นเชิงของการต่อสู้ แบบมวยโบราณ
นายจำลอง นวลมณี ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ เป็นผู้รักและสนใจการแสดงมวยโบราณ เป็นครูสอนรำมวยโบราณ ได้ทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกมวยโบราณให้กับนักเรียนประถมมัธยม และพนักงานดับเพลิงของเทศบาลเมืองสกลนคร


ประวัติความเป็นมา

"มวย เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นการต่อสู้ด้วยพละกำลัง ใช้อวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย ทั้งมือ เท้า เข่า ศอก รวมทั้งหัวด้วย มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว ในสมัยก่อนนิยมฝึกหัดกันในหมู่นักรบโบราณ เป็นที่นิยมชมชอบของชนทุกชั้น แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็มีปรากฏในพงศาวดาร ครั้งกรุงศรีอยุธยา ขุนหลวงสรศักดิ์ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม พระเจ้าเสือ ทรงนิยมชมชอบมวยมาก ถึงกับปลอมพระองค์ไปชกมวยตามหัวเมืองบ่อยครั้ง"
(จากหนังสือเชิดชูเกียรติ อาจารย์จำลอง นวลมณี ครูมวยโบราณของสกลนคร ผู้ที่สืบสานศิลปะการร่ายรำมวยโบราณ)  

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่อาจารย์จำลอง นวลมณีได้เล่าไว้อย่างน่าสนใจมาก คือ…. 
" เมื่อปี พ.ศ.2331 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีนักมวยฝรั่งสองพี่น้อง ล่องเรือกำปั่นท้าพนันชกมวยมาหลายหัวเมือง และชกชนะมาทั้งสิ้น ครั้นมาถึงกรุงเทพฯ ก็มาท้าพนันชกมวยกับคนไทย พระยาพระคลัง กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงทราบ จึงรับสั่งให้รับท้าพนัน วางเดิมพันเป็นเงิน 50 ชั่ง หรือ 4,000 บาท (สมัยนั้นก็มากแล้ว) สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทราชอนุชา จึงจัดหานักมวย ชื่อ หมื่นผลาญ ซึ่งมีความรู้ทั้งมวยต่อยและมวยปล้ำ และดำรัสให้ปลูกพลับพลาใกล้โรงละครด้านทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประทับทอดพระเนตร ผลการชกปรากฏว่า นักมวยฝรั่งแพ้ไม้เป็นท่า เป็นที่น่าอับอายมาก"

นางศาสตร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้เขียนไว้ในหนังสือเชิดชูเกียรติ อาจารย์จำลอง นวลมณี ว่า
“ในสมัย 50 ปีมาแล้ว จะมีงานแห่ต่างๆ โดยเฉพาะงานประเพณีที่เรียกว่า งานบุญพระเวส ชาวสกลนคร 10 คุ้ม ก็มีการแห่กัณฑ์เทศน์ และแห่บั้งไฟไปตามถนนสายต่างๆ เพื่อทอดถวายองค์พระธาตุเชิงชุม โดยมีคณะนักมวยรำมวยออกหน้า มีปี่ ฆ้อง กลองประโคม เป็นเครื่องประกอบ เมื่อขบวนไปพบกันจะไม่มีใครหลีกทางให้กัน จึงมีการต่อสู้กันขึ้น”

ดังนั้น มวยโบราณจึงเป็นการต่อสู้ด้วยมือ เท้า เข่า ศอก มีมาก่อนมวยคาดเชือก (มวยคาดเชือกใช้ผ้าดิบ หรือบางครั้งใช้เชือกพันมือ สันนิษฐานว่า มีขึ้นในสมัยอยุธยา)

พ.ศ.2472 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดใจเกิดขึ้น เมื่อนายเจีย แขกเขมร ขอขึ้นทาบรัศมีกับ นายแพ เสียงประเสริฐ และผลการต่อสู้ในครั้งนั้น นายเจีย ถูกนายแพ ต่อยถึงแก่ความตายที่สนามมวย หลักเมือง ของพลโท พระยาเทพหัสดิน ตั้งแต่นั้นมวยคาดเชือกจึงต้องเลิกไป


การแสดงมวยโบราณ
แบ่งเป็น 3 ตอน คือ 
- ขบวนแห่มวยโบราณ
- ท่าไหว้ครูหรือรำเดี่ยว 
- การต่อสู้  
เป็นที่น่าสังเกตว่า มวยโบราณไม่ใช้การต่อสู้แบบเข้าคลุกวงใน ทั้งนี้เพราะจะทำให้เห็นลีลาท่าฟ้อนรำน้อยไป แต่นักมวยจะเข้าไปเล่นงานคู่ต่อสู้พร้อมกับถอยมาฟ้อนรำเป็นระยะๆ แล้วจึงบุกเข้าไปหรือเตรียมตั้งรับหรือตอบโต้คู่ต่อสู้   กล่าวได้ว่าความสนุกสนานของมวยโบราณ อยู่ที่ชั้นเชิงและกลเม็ดของนักมวยผู้ที่เจนจัด มักมีลูกเล่นกลเม็ดแพรวพรายทั้งท่ารุก ท่ารับ ซึ่งหมายถึงการฝึก หัดมาอย่างดีในท่ารุกเข้าพิชิตคู่ต่อสู้หลายแบบ นักมวยโบราณที่มีความคล่องตัวนิยมเล่นงานคู่ต่อสู้ด้วยเท้า ในขณะที่เสียเปรียบคู่ต่อสู้จนเสียหลัก นักมวยจะแก้ปัญหา เช่น การหลบ โดยหลบลอดได้อย่างเร็ว พร้อมใช้เท้าถีบคู่ต่อสู้ให้ล้มหรือใช้ศอกถอง แต่ก็ต้องระวังท่าจระเข้ฟาดหางจากฝ่ายตรงข้ามตอบโต้ด้วย มวยโบราณจึงมิใช่มวยที่ชกกันเอาแพ้ชนะเช่นมวยในปัจจุบัน แต่หากเป็นการต่อสู้ที่เน้นศิลปะของท่ารำ จึงควรให้เรียกว่าการรำมวยโบราณ มิใช่การชกมวยต่อยมวยเช่นในปัจจุบัน     

ท่าฟ้อนของมวยโบราณ อ่อนช้อยแต่เข้มแข็งทะมัดทะแมงอยู่ในการฟ้อนมวยโบราณ ท่าฟ้อนมวยโบราณนั้นทั้งหมดมี 14 ท่า คือ..
   1.  ท่าเสือออกจากเหล่า 
   2.  ท่าย่างสามขุม 
   3.  ท่ากุมภัณฑ์ถอยทัพ
   4.  ท่าลับหอกโมกขศักดิ์  
   5.  ท่าตบผาบปราบมาร 
   6.  ท่าทะยานเหยื่อเสือลากหาง 
   7.  ท่าไก่เลียบเล้า 
   8.  ท่าน้าวคันศร 
   9.  ท่ากินนรเข้าถ้ำ
 10.  ท่าเตี้ยต่ำเสือหมอบ 
 11.  ท่าทรพีชนพ่อ 
 12.  ท่าล่อแก้วเมขลา 
 13.  ท่าม้ากระทืบโรง
 14.  ท่าช้างโขลงทะลายป่า  

นอกจากนั้นยังมีท่ารำมวยโบราณแบบที่รำเป็นขบวนแห่อีก 9 ท่า คือ
   1.  ท่ากาเต้นก้อนขี้ไถ
   2.  ท่าหวะพราย
   3.  ท่าย่างสามขุม
   4.  ท่าน้าวเฮียวไผ่
   5.  ท่าไล่ลูกแตก-ตบผาบปราบมาร
   6.  ท่าช้างม้วนงวง
   7.  ท่าทวงฮัก กวักชู้
   8.  ท่าแหลวถลา กาตากปีก
   9.  ท่าเลาะเลียบตูบ

การแต่งกาย
มวยโบราณนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนแบบหยักรั้ง คือ ดึงชายกระเบนให้สูงขึ้น เพื่อให้เห็นลายสักที่ขา สีของผ้าโจงกระเบนนิยมสีแดงหรือสีน้ำเงิน ปล่อยชายหางกระเบน ห้อยลงมาพองาม มีผ้าคาดเอวสีแดงหรือ น้ำเงิน (ใส่สลับกับผ้านุ่ง คือ ถ้าผ้านุ่งสีแดง ผ้าคาดเอวก็สีน้ำเงิน)  ผ้าคาดเอวนี้จะช่วยรัดให้ผ้าโจงกระเบนแน่นกระชับ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ มีผ้าประเจียดโพกศีรษะ (ผ้าประเจียดคือ ผ้าลงยันต์ บรรจุมนต์ขลังของเกจิอาจารย์) นอกจากนั้นก็มีผ้ารัดต้นแขนทั้งสองข้าง เป็นผ้าสีแดง มีตะกรุดหรือเครื่องรางของขลังอยู่ข้างใน

  ท่ารำดังนี้



รำมวยโบราญ เป็นการรำที่ใช้เฉพาะผู้ชายแสดงเท่านั้น ท่าทางแต่ล่ะท่าและก็จะมีชื่อของแต่ล่ะท่า
และยังดูแข็งแรงหึกเหิม





ที่มา  http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=skolnakorn03.php


ฟ้อนแพรวากาฬสินธุ์


ผ้าไหมแพรวา เป็นผ้าแพรสไบที่ทอด้วยเทคนิคการทอคล้ายกับผ้าจก นิยมทอให้มีความยาวประมาณ 1 วากับอีก1 ศอกหรือ 1ช่วงแขน หรือยาวประมาณ 2-2.5 เมตร ตามลักษณะการใช้งาน ซึ่งเป็นผ้าทอพื้นบ้านของชาวภูไทบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และนิยมทอกันอย่างแพร่หลายในหลายจังหวัด เพราะได้การสนับสนุนจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และมีการพัฒนารูปแบบ สีสัน และลวดลายต่างๆมากขึ้น ทำให้ผ้าไหมแพรวาเป็นที่นิยม และนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ฟ้อนแพรวากาฬสินธุ์ ได้ประดิษฐ์คิดค้นการแสดงโดย คณาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์และดุริยางค์ โดยการควบคุมของ นายสิริชัย นักจำรูญ ผู้อำนวยการจากวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ.2534 เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระชนม์มายุครบ 60 พรรษา 

และได้ออกนำเสนอผลงาน ในงานมหกรมการแสดงนาฏศิลป์ดนตรีและนิทรรศการงานศิลปะของสถาบันการศึกษา สังกัดกรมศิลปากรประจำปีการศึกษา2535 ณ โรงละครแห่งชาติ โดยผู้แสดงจะแต่งกายด้วยการใช้ผ้าแพรวาสีต่างๆพันอก ท่าฟ้อนรำก็ได้ดัดแปลงมาจากท่วงท่าการทอผ้าไหมแพรวานั่นเอง

การแต่งกาย
หญิง พันอกด้วยสไบไหมแพรวา พับขึ้นเป็นสายพาดไหล่ด้านขวา แล้วพับเป็นแขนตุ๊กตาที่ไหล่ซ้าย นุ่งผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ ผมเกล้ามวยประดับมวยผมด้วยดอกไม้ และสวมเครื่องประดับเงิน


ท่ารำดังนี้




ฟ้อนแพรวากาฬสินธุ์ เป็นการฟ้อนของจังหวัดกาฬสินธุ์และท่ารำเป็นท่ารำง่ายๆสามารถนำไปทำการแสดงได้อย่างดี





ที่มา   
http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=kalsin05.php

ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง


ในอดีตนั้น การประกอบอาหารและการเสาะหาแหล่งอาหารของชาวไทอีสานในความเป็นอยู่แบบพอเพียงไม่ได้ซื้อหาจากตลาดหรือร้านค้าดั่งเช่นในปัจจุบัน ชาวอีสานในอดีตจึงออกแสวงหาอาหารในแหล่งธรรมชาติใกล้ชุมชน เช่น ในท้องนา ป่าชุมชน ป่าทาม รวมไปถึงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แม้ว่าปัจจุบันวิถีชีวิตบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม ด้วยกระแสบริโภคนิยม บางท้องที่หรือบางชุมชนก็ยังหาอยู่หากินอย่างพอเพียงตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกันอยู่ 

“ไข่มดแดง” รวมถึงตัวอ่อนของมดแดง ก็ถือได้ว่าเป็นอาหารอีสานที่หารับประทานได้ในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นอาหารตามฤดูกาลแม้ในปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมในการบริโภคกันอยู่ ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และสามารถหาได้ง่ายๆในท้องถิ่น ซึ่งกรรมวิธีการหาไข่มดแดงจะต้องมีอุปกรณ์ คือ ไม้ไผ่ยาวผูกปลายด้วยตะกร้า และมีคุใส่น้ำเตรียมไว้ใส่ไข่มดแดงที่แหย่ได้ แล้วใช้เศษผ้ากวนเอาตัวมดแดงแยกออกจากไข่ เพื่อนำไปประกอบอาหารต่อไป

ภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์) ได้ศึกษารูปแบบการแหย่ไข่มดแดงของชาวบ้าน โดย อ.ประชัน คะเนวัน และ อ. ดรรชนี อุบลเลิศ ได้ศึกษาขั้นตอนอย่างละเอียด ก่อนจะนำมาประดิษฐ์เป็นชุดการแสดง “เซิ้งแหย่ไข่มดแดง” ซึ่งมีความสนุกสนานเร้าใจในแบบศิลปการแสดงแบบชาวอีสาน ซึ่งได้แสดงออกถึงการออกไปหาไข่มดแดง ซึ่งได้มาอย่างยากลำบาก ทั้งต้องถูกมดแดงกัดหรือไต่ตามเสื้อผ้า การกวนแยกตัวมดแดงออกจากไข่ ทำให้ชุดการแสดงนี้บอกเล่าวิธีการได้อย่างละเอียด

การแสดงฟ้อนแหย่ไข่มดแดง
- เดินทางออกจากบ้าน ฝ่ายหญิงจะถือคุใส่น้ำและเศษผ้าเหน็บไว้ที่เอว ชายถือไม้ยาวผูกตะกร้าที่ปลายไม้สำหรับแหย่รังมดแดง
- มองหารังมดแดง
- แหย่มดแดงได้เทลงในครุใส่น้ำ
- นำผ้ากวนมดแดง เพื่อแยกตัวมดออกจากไข่มดแดง
- เทน้ำออกจากครุ
- เก็บอุปกรณ์เดินทางกลับบ้าน

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคาดเอว และใช้ผ้าขาวม้าโพกศีรษะ ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก 3 ส่วนคอกลม ห่มสไบ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สั้นแค่เข่า

ดนตรี ลายสุดสะแนน ลายเซิ้งบั้งไฟ

อุปกรณ์สำหรับการแสดง คุใส่น้ำ ตะกร้าผูกปลายไม้ยาว ผ้าสำหรับกวนมดแดง


ท่ารำดังนี้



ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง  เป็นการฟ้อนที่แสดงให้เห็นเกี่ยวกับการหากินของชาวบ้านทางอีสาน
และได้ประดิษฐิ์ท่ารำขึันมา



ที่มา  http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=kalsin08.php


เซิ้งกะโป๋


กะโป๋ คือกะลามะพร้าว ชาวอีสานรู้จักการใช้ประโยชน์จากกะลามะพร้าวมาเป็นวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระบวยตักน้ำ และสามารถทำเป็นเครื่องดนตรี เช่น พิณกระแสเดียว และซอของชาวอีสานใต้ เป็นต้น 

ฟ้อนกะโป๋ เป็นการแสดงที่ได้ดัดแปลงมาจากการละเล่นของชาวอีสานใต้ ซึ่งได้แก่ในบริเวณจังหวัด สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เป็นการแสดงที่มีความสนุกสนานรื่นเริง โดยใช้กะลาที่ขัดผิวจนมันเป็นอุปกรณ์หลักในการประกอบจังหวะ และที่น่าสังเกตคือ ประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย กัมพูชา และมาเลเซีย ก็มีการละเล่นเกี่ยวกับการเคาะกะลาเช่นเดียวกัน

ฟ้อนกะโป๋ในแบบฉบับวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้นำการแสดงชุด ระบำกะลา ของชาวอีสานใต้มาดัดแปลงให้เป็นรูปแบบนิยมของอีสาน เนื่องจากว่า ระบำกะลา มีจังหวะและท่วงทำนองท่าช้าเนิบนาบ จึงได้แต่งดนตรีขึ้นใหม่ให้มีจังหวะที่สนุกสนานยิ่งขึ้น โดยนำเอาแต่งลายดนตรีมาผสมกับลายเพลงพื้นเมืองอีสานใต้ ได้แก่ ทำนองเจรียงซันตรู๊จน์ จนได้ทำนองเพลงที่เป็นลักษณะเฉพาะในการแสดงชุด “ฟ้อนกะโป๋”

การแต่งกาย
- หญิง สวมเสื้อแขนกระบอก ใช้สไบขิดเฉียงไหล่ซ้ายแล้วไปมัดที่เอวด้านขวา นุ่งโจงกระเบน มีผ้าผืนยาวมัดเอว ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้ สวมเครื่องประดับเงินประเกือม
- ชาย สวมเสื้อผ้าแพรแขนสั้น นุ่งโจงกระเบน ใช้ผ้าสไบขิดพาดไหล่ มีผ้าผืนยาวมัดเอว สวมสร้อยคอและกำไลเงิน 


ท่ารำดังนี้


เซิ้งกะโป๋ เป็นการรำอีสานพื้นเมืองจะรำเป็นคู่ชายหญิง ท่าทางท่ารำก็จะ เกี้ยวพาราษีกันและใช้กะโป๋เป็นอุปกรหลักในการรำ ท่ารำก็จะออกท่าทางสนุกสนาน



ที่มา  http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/?transaction=roied10.php


ฟ้อนสาวไหม





 ประวัติฟ้อนสาวไหม
ฟ้อนสาวไหม เป็นฟ้อนที่ต่างจาก การฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ซึ่งฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน เกิดจากราชสำนัก (คุ้มเจ้าดารารัศมี) แต่การฟ้อนสาวไหมเกิดจาก วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในการทอผ้าฝ้ายของชาวล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านศรีทรายมูล ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด การฟ้อนสาวไหม ซึ่งบุคคลผู้ที่คิดค้นการฟ้อนนี้ คือ นายกุย สุภาวสิทธิ์ อดีตศิลปินช่างฟ้อน (ปัจจุบันได้ล่วงลับไปแล้ว) แห่งหมู่บ้านศรีทรายมูล หมู่ที่ ๑๑ ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย แต่เดิมท่านเป็นชาวบ้านแม่คือ ตำบลแม่ก๊ะ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน และเป็นครูช่างฟ้อนผู้หนึ่งที่ได้สอนศิลปะการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อครูปวน คำมาแดง ซึ่งเป็นผู้ชำนาญทางด้านนี้จนได้รับสมญานามว่า “ปวนเจิง” (หมายถึง นายปวน ผู้เชี่ยวชาญในการฟ้อนเชิง) จากนั้นนายกุย สุภาวสิทธิ์ ได้ถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนต่างๆ แก่หนุ่มสาวชาวบ้านศรีทรายมูล เมื่อท่านได้ถ่ายทอดศิลปะเหล่านี้แก่ชาวบ้านศรีทรายมูล เด็กหญิงบัวเรียวก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟ้อนสาวไหม นางบัวเรียว (สุภาวสิทธิ์) รัตนมณีภรณ์ ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการฟ้อนมาจากบิดาตั้งแต่ อายุประมาณ ๗-๘ ขวบ

ด้วย นายกุย เป็นผู้มีความชำนาญและความสามารถทางศิลปะการฟ้อนของฝ่ายชาย อันได้แก่ฟ้อนดาบ และฟ้อนเชิง นอกจากการฟ้อนทั้ง ๒ อย่างจะเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาแล้วยังสามารถนำมาเป็นอาวุธที่ใช้ป้องกันตัวจากการถูกทำร้ายได้ด้วย ด้วยเหตุนี้นายกุยคิดว่าการที่จะถ่ายทอดการฟ้อนเชิง และฟ้อนดาบให้แก่บุตรสาวอย่างเดียวคงไม่พอ จึงได้ประดิษฐ์การฟ้อนที่นำเอากระบวนการทอผ้าฝ้ายของชาวล้านนา และการฟ้อนเชิงของผู้ชายมาประดิษฐ์ท่ารำเรียกว่า “ฟ้อนสาวไหม” การที่เรียกชื่อว่าฟ้อนสาวไหมมีเหตุผล ๓ ประการ ดังนี้
ประการที่ ๑ คนเมือง หรือคนภาคเหนือเรียกด้ายเย็บผ้าว่า “ไหมเย็บผ้า”
ประการที่ ๒ คำว่าสาวไหม เป็นกระบวนท่าหนึ่งในการฟ้อนเชิง ของชาวล้านนา
ประการที่ ๓ เพื่อสวยงามตามรูปภาษา นางบัวเรียวได้กล่าวว่า บิดาเลือกชื่อนี้เพราะคำว่าฟ้อนสาวไหมมีความสวยงามมากกว่าคำว่าฟ้อนสาวฝ้าย หรือฟ้อนปั่นฝ้าย
    จากการได้รับการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าว นางบัวเรียวจึงได้นำแสดงสู่สายตาประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย และได้มีโอกาสนำไปเผยแพร่ยังจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการนำของคุณชาญ สิโรรส จากการเผยแพร่ดังกล่าวจึงได้รับทั้งคำชมและคำแนะนำในการฟ้อน ทำให้นางบัวเรียวได้ทำการปรับปรุงท่าฟ้อนสาวไหมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้ากับสรีระการฟ้อนของผู้หญิงมากยิ่งขึ้น และเข้ากับโอกาสในการแสดงตามงานต่างๆ จนมีความงดงามตามแบบการฟ้อนพื้นบ้านล้านนาอย่างแท้จริง
    ฟ้อนสาวไหม เป็นการฟ้อนพื้นเมืองที่เลียนแบบมาจากการทอผ้าไหมของชาวบ้าน การฟ้อนสาวไหมเป็นการฟ้อนรำแบบเก่า เป็นท่าหนึ่งของฟ้อนเจิงซึ่งอยู่ในชุดเดียวกับการฟ้อนดาบ ลีลาการฟ้อนเป็นจังหวะที่คล่องแคล่วและรวดเร็ว (สะดุดเป็นช่วง ๆ เหมือนการทอผ้าด้วยกี่กระตุก)
    ประมาณปี พ.ศ. 2500 คุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ ได้คิดท่ารำขึ้นมาโดยอยู่ภายใต้การแนะนำของบิดา ท่ารำนี้ได้เน้นถึงการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องและนุ่มนวล ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมในการป้องกันไม่ให้เส้นไหมพันกัน
    ในปี พ.ศ. 2507 คุณพลอยศรี สรรพศรี ช่างฟ้อนเก่าในวังของเจ้าเชียงใหม่องค์สุดท้าย (เจ้าแก้วนวรัฐ) ได้ร่วมกับคุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ได้ขัดเกลาท่ารำขึ้นใหม่
    ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 คณะอาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ได้คิดท่ารำขึ้นมาเป็นแบบฉบับของวิทยาลัยเอง 



    ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อน 
จะใช้วงดนตรีพื้นเมืองซึ่งมีสะล้อ ซอ ซึง เพลงร้องมักไม่นิยมนำมาแสดง จะมีแต่เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ แต่เดิมที่บิดาของคุณบัวเรียวใช้นั้นเป็นเพลงปราสาทไหว ส่วนคุณบัวเรียวจะใช้เพลงลาวสมเด็จ เมื่อมีการถ่ายทอดมา คณะครูนาฏศิลป์จึงได้เลือกสรรโดยใช้เพลง "ซอปั่นฝ้าย" ซึ่งมีท่วงทำนองเป็นเพลงซอทำนองหนึ่งที่นิยมกันในจังหวัดน่าน และมีลีลาที่สอดคล้องกับท่ารำ


    การแต่งกาย 
แต่งกายแบบพื้นเมือง คือนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อแขนกระบอกห่มสไบทับ เกล้าผมมวยประดับดอกไม้ 


    ผู้แสดง 
ใช้ผู้หญิงแสดงจำนวนเท่าไรก็ได้ ปัจจุบันก็มีผู้ชายเข้ามาแสดงด้วยก็มี 


    การแสดง 
เริ่มจากการแสดงท่าหักร้างถางพง เพาะปลูกฝ้ายและหม่อน ซึ่งเป็นการแสดงของช่างฟ้อนชาย เพิ่งเพิ่มเข้ามาภายหลัง ต่อจากนั้นก็เป็นท่วงท่าในการฟ้อนสาวไหมเริ่มจากท่าเลือกไหม ดึงไหมออกจากรัง ม้วนไหม สาวไหมออกจากตัว ไหล่ ศีรษะ เท้า ม้วนไหมใต้ศอก พุ่งกระสวย กรอไหม พาดไหม ป๊อกไหม จนกระทั่งชื่นชมกับผ้าที่ทอสำเร็จแล้ว 



ท่ารำดังนี้


ฟ้อนสาวไหม เป็นการฟ้อนที่ใช้ท่ารำจากการสาวไหม และ เป็นท่ารำพื้นเมือง



ที่มา  https://sites.google.com/site/naiyarinnoey/fxn-saw-him


ฟ้อนเล็บ






ภาคเหนือของประเทศไทยมีสภาพดินฟ้าอากาศค่อนข้างหนาวอากาศสดชื่นไม่แห้งแล้ง ฉะนั้นคนในภาคเหนือจึงมีนิสัยเยือกเย็น  ศิลปะที่แสดงออกมาจึงมีลีลาค่อนข้างช้าอ่อนช้อยงดงามอยู่ในตัวเอง  ประณีตในท่ารำ อันได้แก่ประเภทฟ้อนต่าง  ๆ  ตลอดถึงการแต่งกายอันเป็นสัญลักษณ์ของหญิงชาวเหนือ   เมื่อพูดถึงฟ้อนคนไทยทุกคนจะต้องรู้จักและนึกภาพได้ทันที  นับว่าฟ้อนเป็นตัวแทนของศิลปะภาคเหนือได้ดียิ่ง

                 ฟ้อนเล็บ หรือเรียกกันว่าฟ้อนครัวทาน ฟ้อนเมืองบ้าง ฟ้อนเล็บบ้าง   ทั้ง ชื่อนี้เป็นการ ฟ้อนชนิดเดียวกัน แต่เรียกไปตามสถานการณ์ของการฟ้อน เช่น การฟ้อนครัวทาน คือการฟ้อนนำขบวนแห่ของชาวบ้านที่จัดขึ้นเรียกว่า  ครัวทาน”  ซึ่งประกอบด้วยเครื่องอัฐบริขาร (ตั้งแต่ไม้กวาด หม้อน้ำยา และเงินทอง) เพราะประเพณีทางเหนือนั้นเมื่อพ้นการทำนาแล้วชาว บ้านก็จะมุ่งทำบุญมีการบูรณะวัด เป็นต้น ถ้าหมู่บ้านใดบูรณะวัดเรียบร้อยแล้ว ก็นิยมบอกบุญไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ก็ให้มาช่วยทำบุญฉลอง  เช่นฉลองโบสถ์ วิหาร เป็นต้น จึงเรียกว่าฟ้อนครัวทาน หรือฟ้อนเมือง  สมัยโบราณจะหาดูได้ยาก ถ้าจะดูการฟ้อนที่สวยงามและมีลีลาอันอ่อนช้อยต้องเป็นฟ้อนของคุ้มเจ้าหลวง เพราะผู้ฟ้อนส่วนมากล้วนแต่ฝึกหัดมาอย่างดี  ใช้แสดงประกอบพิธีเฉพาะในงานสำคัญในพระราชฐานเท่านั้นผู้ฟ้อนโดยมากล้วนแต่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายในทั้งสิ้น

                   การฟ้อนครั้งสำคัญก็เมื่อคราวพระราชชายา เจ้าดารารัศมี  ได้ทรงฝึกหัดเจ้านายและหญิงสาวฝ่ายในฟ้อนถวายรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7  คราวเสด็จประภาสภาคเหนือ  เมื่อ พ.ศ. 2469  โดยครูนาศิลป์ของกรมศิลปากรได้ฝึกหัดจำไว้ ภายหายหลังจึงได้นำสอนและมีการฝึกหัดสืบต่อมา เช่นเป็นการฟ้อนรำชนิดหนึ่งของไทยชาวเหนือ ตามลักษณะของผู้ฟ้อน ซึ่งแต่งตัวแบบไทยชาวเหนือ แล้วสวมเล็บยาวทุกคน  โดยผู้ฟ้อนสวมเล็บยาวทุกนิ้วเว้นนิ้วหัวแม่มือ แบบฉบับการฟ้อนที่ดีได้รักษากันไว้เป็นแบบแผนกันในคุ้มเจ้าหลวง  จึงเป็นศิลปะที่ไม่สู้จะได้ชมกันบ่อยนัก  การฟ้อนชนิดนี้ได้มาเป็น ที่รู้จักแพร่หลายในกรุงเทพฯ คราวงานสมโภชพระเศวตคชเดชน์ดิลกฯช้างเผือกในรัชกาลที่  7  เมื่อ พ.ศ. 2470

                   ต่อมาการฟ้อนแบบนี้ก็ซบเซาไปพักหนึ่ง ไม่ค่อยจะได้ดูกันบ่อยนัก มีอยู่บ้างที่หัดฟ้อนกันขึ้นเป็นครั้งคราว แต่การฟ้อนและลีลาต่าง ๆ  ไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรที่แน่นอน ทั้งนี้แล้วแต่ครูผู้ฝึกจะดำเนินการสอนแบบไหน ทั้งท่าทางและจังหวะการฟ้อน ฉะนั้นการฟ้อนในระยะนี้จึงแหตกต่างกันอออกไป ในปี พ.ศ. 2474 เจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ธิดาของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ท่านเป็นผู้รักศิลปะทางนี้มาก จึงได้รวบรวมเด็กหญิงในคุ้มให้ครูหลวงเป็นผู้ฝึกหัดในแบบต่าง ๆ ทั้งนี้  เจ้าแก้วนวรัฐ ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี จึงประทานให้หม่อมแส ซึ่งเป็นหม่อมของท่านและมีความรู้เชี่ยวชาญในศิลปะการฟ้อน เป็นผู้ควบคุมการฝึกหัด ในระยะนี้ต้องใช้เวลาทั้งปรับปรุงท่าทาง เครื่องแต่งกายและดนตรี เพื่อความเหมาะสมเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นแบบอย่างที่เชื่อถือได้ ในระหว่างการฝึกอบรมนี้ ก็ได้มีการจัดการแสดงต้อนรับแขกเมือง และให้ประชาชนชมอยู่เสมอ  เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐได้พิราลัย   (ตาย) ไป แล้ว การฟ้อนรำเหล่านี้จึงชะงักไป แต่ก็มีอยู่บ้างตามโรงเรียนต่าง ๆ และวัดแทบทุกวัด

          ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2503  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จประภาสจังหวัดเชียงใหม่   บรรดา ครู   นักศึกษา ตลอดจนวัดต่าง ๆ ได้พากันฟื้นฟูการฟ้อนขึ้นอีกเพื่อเป็นการรับเสด็จฯ และต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่มาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับความสนพระทัยและสนใจจากพระราชอาคันตุกะเป็นอันมาก      ปัจจุบันการฟ้อนชนิดนี้มีอยู่ตามวัดต่าง ๆ และในหมู่นักเรียน นักศึกษา  เพราะถือว่าเป็นวัฒนธรรม   ผู้แสดง  แต่ละชุดของแต่ละหมู่บ้าน  จะใช้จำนวนคนแตกต่างกันไปบ้าง  แต่ที่นิยมกันมากคือ  จำนวน 4 คู่ หรือ 8 คน และจะไม่เกิน 16 คน แต่ก็ไม่ได้ห้ามว่าเกิน  16 คน ไม่ได้ ข้อสำคัญต้องเป็นจำนวนคู่
                   การแต่งกาย  จะแต่งกายแบบไทยชาวภาค เหนือสมัยโบราณ  นุ่งผ้าซิ่นมีเชิงลายขวาง เสื้อคอกลมแขนยาว และห่มผ้าสไบเฉียงทับ เกล้าผมมวยสูงทัดดอกไม้และห้อยอุบะ และสวมเล็บยาวทั้ง 8 นิ้ว เว้นแต่นิ้วหัวแม่มือ การแต่งกายสมัยก่อน ถ้าเป็นฟ้อนธรรมดาของแต่ละหมู่บ้าน การแต่งกายจะเป็น 2 ลักษณะคือ

         1. ใส่ เสื้อคอกลมแขนกระบอก เอวรูด  ไม่ห่มผ้า ผ้าซิ่นจะเป็นแบบลายขวาง ต่อเอวดำตีนดำ  (ตีน คือเชิงผ้าของผ้าซิ่น )

2. ใส่ เสื้อคอกลมแขนกระบอก เอวปล่อย ห่มผ้า ใส่สร้อย ผ้าซิ่นให้ใช้ผ้าตีนจก หรือผ้าทอ (การแต่งกายในข้อนี้ จะใช้แต่งในงานใหญ่และในคุ้มเจ้านาย)การแต่งกายจะเหมือน กันทั้งหมดหรือเหมือนกันเฉพาะคู่ก็ได้


                   ฟ้อนเล็บ แต่เดิมเรียก ฟ้อนเล็บ ด้วยเห็นว่าเป็นการฟ้อนที่เป็นเอกลักษณ์ของ คนเมือง ซึ่งหมายถึงคนในถิ่นล้านนาที่มีเชื้อสายไทยวน และเนื่องจากการเป็นการแสดงที่มักปรากฏ ในขบวนแห่ครัวทานของวัดจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฟ้อนแห่ครัวทาน ต่อมามีการสวมเล็บที่ทำด้วยทองเหลืองทั้ง  8 นิ้ว (ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) จึงได้ชื่อว่า ฟ้อนเล็บ


ท่าฟ้อน

                การฟ้อนชนิดนี้มีมาแต่ดั้งเดิม คณะศรัทธาของแต่ละวัดมักมีครูฝึกสืบทอดต่อกันมา เมื่อถึงฤดูกาลที่จะมีงานปอยหลวง ซึ่งเป็นงานฉลองศาสนสถาน มักมีการฝึกซ้อม เด็กสาวในหมู่บ้านเพื่อแสดงในงานดังกล่าวเสมอ โดยที่รูปแบบกระบวนและลีลาท่าฟ้อนไม่ได้กำหนดตายตัว แต่ละครูหรือแต่ละวัดอาจแตกต่างกันไป ในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้มีการปรับปรุงและประดิษฐ์ท่าฟ้อนให้ดูอ่อนช้อยงดงามยิ่งขึ้น และบุคคล ผู้หนึ่งซึ่งเคยได้รับการถ่ายทอดจากคุ้มเจ้าหลวงได้แก่ ครูสัมพันธ์    โชตนา  ในโอกาสที่ครูสัมพันธ์ได้เข้าไปถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนชนิดนี้แก่วิทยาลัย นาฏศิลป์เชียงใหม่ ท่านได้กำหนดท่าฟ้อนไว้ 17 ท่าดังนี้

1. จีบส่งหลัง

2.กลางอัมพร

3. บิดบัวบาน

4. จีบสูงส่งหลัง

5. บัวชูฝัก

6. สะบัดจีบ

7. กราย

8. ผาลาเพียงไหล่

9. สอดสร้อย

10. ยอดตอง

11. กินนรรำ

12. พรหมสี่หน้า

13. กระต่ายต้องแร้ว

14. หย่อนมือ

15. จีบคู่งอแขน

16. ตากปีก

17. วันทาบัวบาน

ท่ารำต่างๆ ดังกล่าว อาจมีการเพิ่มท่า ตัดตอน หรือลำดับท่าก่อนหลังตามที่ครูจะกำหนด

 

เครื่องแต่งกาย

                    การแต่งกายแต่เดิมจะนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอกคอกลม หรือคอจีนผ่าอก เกล้าผมมวยโดยขมวดมวยด้านท้ายทอย ทัดดอกไม้ประเภทดอกเอื้อง จำปา กระดังงา หางหงส์ หรือลีลาวดี สวมเล็บทั้งแปดนิ้ว ต่อมามีการ ดัดแปลงให้สวยงามโดยประดับลูกไม้ หรือระบายที่คอเสื้อ ห่มสไบเฉียงจากบ่าซ้ายไปเอวขวาทับด้วยสังวาล ติดเข็มกลัด  สวมกำไลข้อมือ กำไลเท้า เกล้าผมแบบญี่ปุ่น ทัดดอกไม้หรืออาจเพิ่มอุบะห้อยเพื่อความสวยงาม

 

เครื่องดนตรี

                        เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบจังหวะในการฟ้อน จะใช้วงกลอง ตึ่งโนง ซึ่งประกอบด้วย
1. กลองแอว                              

2. กลองตะหลดปด

3. ฆ้องอุ้ย(ขนาดใหญ่)                 

4. ฆ้องโหย้ง(ขนาดกลาง)

5. ฉาบใหญ่                               

6. แนหน้อย

7. แนหลวง

 

เพลงที่ใช้บรรเลง

                       สำหรับเพลงที่ใช้บรรเลง ก็แล้วแต่ผู้เป่าแนจะกำหนดอาจใช้เพลงแหย่ง เพลงเชียงแสน เพลงหริภุญชัยหรือลาวเสี่ยงเทียน แต่ส่วนใหญ่จะใช้เพลงแหย่งเพราะช่างฟ้อนคุ้นกับเพลงนี้มากกว่าเพลงอื่น

 

โอกาสที่แสดง

                   เดิมจะฟ้อนในงานฉลองสมโภช เพื่อนำขบวนทานหรือเป็นมหรสพในงาน ปัจจุบันมีการแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชม จึงมีปรากฏให้เห็นตามโรงแรม ห้องอาหารโดยทั่วไป

อนึ่งการฟ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ ถ้าถอดเล็บออกและขณะที่ฟ้อนก็ถือเทียนไปด้วย เรียกว่า ฟ้อนเทียน” การฟ้อนโดยลักษณะการนี้มีความเป็นมาว่าในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีการแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินฯ เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2469 ในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ พลับพลาที่ประทับ งานนี้พระราชชายาฯ ทรงให้ช่างฟ้อนเล็บถอดเล็บทองเหลืองออก แล้วให้ถือเทียนทั้งสองมือ เวลาออกไปฟ้อนก็จุดเทียนให้สว่าง การฟ้อนครั้งนั้นสวยงามเป็นที่ประทับใจ จึงเป็นต้นเหตุว่า หากมีการฟ้อนชนิดนี้ถ้าเป็นเวลากลางวันให้สวมเล็บแต่ถ้าเป็นกลางคืนให้ถือ เทียน และการที่ฟ้อนเทียนนี่เองเป็นเหตุให้ใช้เพลง ลาวเสี่ยงเทียน” ประกอบการฟ้อน

 

ความเป็นเอกลักษณ์

หากจะถามถึงความเป็นเอกลักษณ์ของฟ้อนเล็บแล้ว ถ้าจะตอบว่าคือท่าฟ้อน และการแต่งกายยังตอบไม่ได้ เต็มคำเพราะถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ค่อนข้างมาก หรือตอบว่าอยู่ที่เล็บก็ยังไม่ใช่เพราะการรำมโนราห์ ของภาคใต้ก็สวมเล็บ การฟ้อนผู้ไทของ จังหวัดสกลนครก็สวมเล็บเช่นกัน แม้จะมีพู่ไหมพรมสีแดงตรงปลายเล็บก็ตาม และคำตอบที่น่าจะใกล้เคียงได้แก่ เครื่องดนตรีและเพลงประกอบการฟ้อน และที่น่าจะถูกต้องมากที่สุด เห็นจะได้แก่ ภาพรวมทั้งหมด เพราะใครพบเห็นฟ้อนชนิดนี้ที่ไหน ก็ต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นฟ้อนเล็บ ซึ่งเป็นการแสดงที่อ่อนช้อยงดงาม ตามแบบฉบับของคนเมืองชาวล้านนาโดยแท้


ท่ารำดังนี้




ฟ้อนเล็บ เป็นการแสดงของภาคเหนือ ท่ารำแต่ละท่ามีความสละสลวยและเป็นท่ารำที่นาฏศิลป์ไทยให้เป็นพื้นเมืองมาตรฐาน



ที่มา  https://sites.google.com/site/ajanthus/fxn-leb

ฟ้อนหมากกั๊บแก้บ - ลำ หมากกั๊บแก้บ(กรับ)   เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะของภาคอีสาน มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ 1. กั๊บแก้บไม้สั้น เป็นไ...